Tuesday, January 14, 2020

ท่องเที่ยวธรรมชาติงาม ตามเทือกเขาถนนธงชัย



ณิชยา...เรื่อง เปรมศักดิ์...ภาพ

ผลงานสารคดีจากผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพอนุสาร อ.ส.ท. (รวมรุ่นจังหวัดตาก ๒๕๕๘)

                        สุดประจิมริมเมย เป็นคำเรียกแทนจังหวัดตาก จังหวัดที่เป็นเขตชายแดนประเทศไทยด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย

                        จังหวัดตากหรือเมืองตากเป็นเมืองที่ยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่อยู่ในเขตผืนป่าตะวันตกซึ่งโอบล้อมด้วยแนวเทือกเขาถนนธงชัยซึ่งเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือ และเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางธรรมชาติที่สำคัญระดับโลก ครอบคลุมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง จัดเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามอยู่มากมากมายและยังมีสิ่งมหัศจรรย์ที่มีความเก่าแก่ติดระดับโลกซ่อนอยู่ในดินแดนแห่งนี้ด้วย  

ตากเมืองที่อยู่ในอ้อมกอดของทิวเขาถนนธงชัย

                        ทิวเขาถนนธงชัย ซึ่งเป็นแนวทิวเขาทางด้านตะวันตกของภาคเหนือ เริ่มจากจุดที่บรรจบกับทิวเขาแดนลาว ทอดตัวเป็นแนวยาวลงมาทางตอนล่างของภาค และผาดผ่านจังหวัดตาก แบ่งออกเป็น ๓ แนว ได้แก่ทิวเขาถนนธงชัยตะวันตก ทิวถนนธงชัยกลาง และทิวถนนธงชัยตะวันออก จึงทำให้พื้นที่ของจังหวัดตากเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อนสลับกับที่ราบแคบ ๆ บางส่วนของทิวเขาถนนธงชัยเป็นเทือกเขาหินปูนและเป็นเขตที่มีพุน้ำร้อนปรากฏอยู่มากมาย

                        สภาพภูมิประเทศของจังหวัดตากนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน โดยมีเทือกเขาถนนธงชัยกั้นกลาง แบ่งจังหวัดตากออกเป็นสองฝั่งคือด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ด้านฝั่งตะวันออกประกอบด้วย ๔ อำเภอ  ได้แก่  เมืองตาก บ้านตาก สามเงา และวังเจ้า  ส่วนด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย ๕ อำเภอ ได้แก่ แม่สอด พบพระ แม่ระมาด  อุ้มผาง และท่าสองยาง

                        เนื่องจากเทือกเขาถนนธงชัยเป็นตัวปะทะที่พัดมาจากทะเลอันดามัน ทำให้ส่วนฝั่งตะวันตกจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมมากกว่าจึงทำให้ตากฝั่งตะวันตกมีความชุ่มชื้นส่วนฝั่งตะวันออกเป็นเขตเงาฝนมีความแห้งแล้งมากกว่า คงเป็นเพราะเหตุนี้จึงทำให้จังหวัดตากมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแตกต่างกันไป



ป่าหวายนามน้ำตก หินปูนร้อยชั้น สัมผัสถ้ำพิศวง ชมต้นกระบากใหญ่

                        น้ำตกป่าหวายอยู่ในอำเภอพบพระ อยู่ด้านฝั่งตะวันตกของทิวเขาถนนธงชัย เป็นด้านที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม จึงทำให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่ยังคงความเป็นธรรมชาติมีต้นหวายขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ  

                         น้ำตกป่าหวายเป็นน้ำตกหินปูนที่มีหินปูนลดหลั่นมากกว่า ๑๐๐ ชั้น น้ำได้พัดพาตะกอนหินปูนมาเกาะรวมกันทำให้เกิดหินงอกหินย้อยขึ้นตามลำน้ำจากการไหลของน้ำตก  ภายในบริเวณน้ำตกป่าหวายแห่งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่น้ำตกเท่านั้นที่น่าสนใจ ยังมี "น้ำตกพิศวง"  จุดนี้เป็นหลุมลึกลงไปและมีน้ำไหลลงไปด้านล่าง โดยยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการว่ามีความลึกเท่าไหร่  ปล่องภูเขาแห่งนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่า "ถ้ำนรก" มีความเชื่อว่าในสมัยที่มีการต่อสู้ทางการเมืองอำเภอพบพระเป็นพื้นที่สีแดง มีการนำศพคนตายมาทิ้งไว้ที่นี่   ปล่องภูเขาแห่งนี้จึงไม่มีใครกล้าลงสำรวจอย่างจริงจัง  ยังคงปล่อยให้ผู้คนที่มาเที่ยวชมพิศวงสงสัยในความลึกต่อไป

                        นอกจากน้ำตกพิศวงแล้ว อีกจุดที่น่าสนใจก็คือ ต้นกระบากใหญ่ ซึ่งมีลำต้นที่ใหญ่มากขนาด ๑๙ คนโอบ และมีรากที่แผ่ออกมาเป็นปีกไม้ที่โคนต้นขนาดใหญ่มีหน้าที่ช่วยค้ำยันต้นไม้ ต้นกระบากใหญ่นี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เมืองตากได้เป็นอย่างดี



หลบฝน ชมกระเจียวสีส้ม ที่น้ำตกพาเจริญ

                        น้ำตกพาเจริญ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า น้ำตกร่มเกล้า ๙๗ ชั้น อยู่ในอำเภอพบพระ เป็นหนึ่งในน้ำตกขึ้นชื่อของจังหวัดตากที่มีคนนิยมมาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมากเนื่องจากเดินทางได้สะดวกและมีความสวยงาม เป็นน้ำตกหินปูนที่เกิดจากลำห้วยน้ำไหลมารวมกับแหล่งน้ำซับแล้วไหลลงสู่ชั้นน้ำตกที่ลดหลั่นลงมาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยนับรวมได้ถึง ๙๗ ชั้น มีน้ำไหลตลอดปีสามารถลงเล่นน้ำได้เหมาะสำหรับมาท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด 

                        อีกจุดเด่นหนึ่งของอุทยานน้ำตกพาเจริญ คือดอกกระเจียวสีส้ม เป็นดอกกระเจียวที่แตกต่างจากดอกกระเจียวของที่อื่นๆ ซึ่งที่มักจะเป็นสีชมพูหรือสีขาวโดยดอกกระเจียวที่อุทยานแห่งนี้จะมีใบประดับรูปใบหอกเป็นสีส้ม  กระเจียวส้มนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma roscoeana Wall. เป็นพืชตระกูลขิงข่า การกระจายพันธุ์ พบบริเวณหินปูนที่ภาคเหนือ จะบานสวยงามเต็มที่ในช่วงหน้าฝน โดยทางอุทยานฯ ได้ปลูกดอกกระเจียวชนิดนี้ประดับไว้ตามที่ว่างต่างๆ  เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามที่หาได้เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย



ผ่อนคลายกับสายน้ำของน้ำพุร้อนและน้ำตกแม่กาษา

                        ที่อำเภอแม่สอดซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทิวเขาถนนธงชัย น้ำพุร้อนแม่กาษาเป็นธารน้ำร้อนที่พุ่งออกมาผสมกับน้ำจากผิวดินที่เป็นน้ำเย็น เกิดเป็นธารน้ำอุ่น มีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ ปัจจุบันได้รับการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อน บริเวณกลางสวนจะมีบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่มีอุณหภูมิประมาณ ๗๐-๘๐ องศาเซลเซียส ร้อนพอที่ลวกไข่ให้สุกได้ ซึ่งการลวกไข่เป็นกิจกรรมที่นิยมอย่างหนึ่งเมือมาที่น้ำพุร้อนแม่กาษา

                        จากบ่อน้ำพุกลางมีท่อต่อทำเป็นทางน้ำลงสู่พื้นดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นำเท้าแช่น้ำอุ่นกัน เพื่อเป็นการผ่อนคลาย  นอกจากการต้มไข่ในบ่อน้ำพุร้อนแล้ว ทางสวนน้ำพุร้อนยังมีบริการอาบน้ำร้อนเป็นบ่อวงกลมใกล้จุดบริการนักท่องเที่ยว มีบริการนวดแผนไทย และมีห้องอาบน้ำร้อนไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย

                        ไม่ไกลจากน้ำพุร้อนแม่ภาษา ก็จะมีน้ำตกแม่กาษาเป็นน้ำตกไม่ใหญ่มากนักเหมาะสำหรับมาเที่ยวชมพักผ่อน และสามารถลงเล่นน้ำได้ ด้านข้างน้ำตกมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสามารถเดินไปชมน้ำตกด้านบนได้ เป็นจุดที่เข้าไปชมน้ำตกแม่กาษาได้อย่างใกล้ชิด

วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน ฟอสซิลไม้กลายเป็นหินความมหัศจรรย์ติดอันดับโลก

                        อุทยานแห่งชาติเขาพระบาท หรือที่เรียกว่า “วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน” อยู่ในเขตอำเภอบ้านตากอยู่ฝั่งตะวันออกของทิวเขาถนนธงชัย  เป็นบริเวณที่ค้นพบฟอสซิลไม้กลายเป็นหินใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีอายุประมาณแปดแสนปี ฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่พบ ยาวประมาณ  ๗๒.๒๒ เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ เมตร เป็นฟอสซิลไม้กลายเป็นหินที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบในทวีปเอเชียและยาวที่สุดในโลก

                        ไม้กลายเป็นหินจัดเป็นฟอสซิล ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากซากต้นไม้ที่ถูกแทนที่ด้วยน้ำบาดาล ซึ่งมีสารละลายของซิลิกาและเกิดการตกตะกอนจนกลายสภาพเป็นหินอย่างช้าๆ เป็นแทนที่แบบแทรกในโมเลกุล จนกระทั่งกลายเป็นหินทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้างอีก ไม้กลายเป็นหินจะฝังตัวอยู่ในชั้นกรวด คาดว่าจะเกิดการสะสมตัวในยุคควอเทอร์นารีตอนตัน  จากการกระจายตัวของตะกอนหินและก้อนกรวดที่พบอยู่ ณ วนอุทยานไม้กลายเป็นหินนี้ปรากฏน่าจะเกิดสะสมตัวบริเวณตะพักคุ้งน้ำของแม่น้ำปิงโบราณ  จากการสำรวจภาคพื้นดินพบท่อนไม้โผล่ให้เห็นหลายสิบท่อน และได้มีการขุดขึ้นมาเพื่อจัดแสดงและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วจำนวน ๘ ท่อนจากจำนวน ๗ หลุมขุดค้น

                        จากการวิจัยพบว่าไม้ท่อนแรกที่ค้นพบเทียบได้กับต้นไม้ในปัจจุบันคือต้น ทองบึ้ง (Koompassia  malaccensis  Maing) ซึ่งในปัจจุบันไม้ทองบึ้งจะพบได้ในป่าที่ลุ่มต่ำและในป่าพรุทางภาคใต้ของประเทศไทย ไม่น่าจะพบได้ในป่าเขตตะวันตก  จากข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่กล่าวว่าไม้ท่อนนี้น่าจะล้มและถูกพัดพามาจากบริเวณอื่นและมาจมน้ำอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนี้    ส่วนไม้ที่พบจากหลุมขุดค้นอื่นจะเทียบเคียงได้กับไม้มะค่าโมง (Pahudioxylon sp.) วนอุทยานไม้กลายเป็นหินนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาทางด้านธรณีวิทยาของจังหวัดตาก



ตาก เมืองที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ

                        จังหวัดตากเป็นเขตชายแดนทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยเป็นเมืองที่ยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ จัดอยู่ในป่าไม้ลุ่มน้ำปิงตอนล่างด้วยการที่มีแนวทิวเขาถนนธงชัยพาดผ่านกลางจังหวัดและแบ่งจังหวัดตากออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกทำให้มีภูมิอากาศแตกต่างกันของทั้งสองฝั่งเกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่งและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติเป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นน้ำตกหินปูน น้ำพุร้อน ดอกกระเจียวสีส้ม หรือฟอสซิลไม้กลายเป็นหินใหญ่ที่สุดในเอเชีย และตามแนวทิวเขาถนนธงชัยนี้ยังมีความสวยงามทางธรรมชาติอีกมากมายที่ยังรอให้เราไปค้นพบ

No comments:

Post a Comment