Thursday, October 27, 2016

ตลาดอยุธยา...ต้องมา “หัวรอ”


วัลฤดี เกิดนอก...เรื่อง เสกสรร วสุวัต... ภาพ
ผลงานรางวัลเนื้อหาสารคดีดีเด่น และผลงานรางวัลภาพถ่ายสารคดีดีเด่น 
จากโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท. รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙ 

            ตอนเป็นเด็กแม่มักจะชวนให้ไปตลาดด้วยให้ไปช่วยถือของ  ไอ้ฉันเองก็ชอบไป เพราะจะได้ขนมและของกินเป็นสิ่งตอบแทน แม่ให้เลือกขนมได้ตามใจชอบ ฉันไปตลาดกับแม่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้สึกชอบเดินตลาดโดยไม่รู้ตัว ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ได้รู้จักผักรู้จักปลาและนานาสรรพสิ่ง มีของอร่อยให้ลองชิม เหมือนที่คนโบราณเคยพูดไว้ว่า “ถ้าอยากฉลาด ให้ไปตลาด” ตลาดเป็นศูนย์รวมทุกเรื่องที่อยากรู้ นอกจากผักปลาหน้าตาแปลก ๆ แล้ว ตลาดยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนนั้นๆ    ได้เป็นอย่างดี สีหน้าและรอยยิ้มของผู้คน การทักทายอัธยาศัยไมตรีที่ผู้คนมีต่อกัน รวมทั้งเรื่องเม้าท์มอยหอยสังข์ หาฟังได้สด ๆ ร้อน ๆ จากสำนักตลาดสด ทำให้ฉันประทับใจการไปตลาดและชอบบรรยากาศของตลาดสด



               จนถึงทุกวันนี้ในฐานะแม่บ้าน ฉันก็ยังต้องไปตลาดเป็นประจำตามหน้าที่ และทุกครั้งที่ได้เดินทางไปต่างจังหวัดต่างบ้านต่างเมือง ฉันจะต้องไม่พลาดการไปตลาดสด ตลาดเช้า ตลาดเย็น รวมถึงตลาดนัด ของแต่ละท้องถิ่น เพราะอยากรู้ว่าผู้คนที่นั่นเขากินอะไรกัน อยู่กันอย่างไร แต่งตัวแบบไหน สำหรับฉัน     ฉันไปหาคำตอบได้จากใน “ตลาด”



            และเที่ยวนี้ฉันมาเยือนอยุธยา มีตลาดอะไรบ้างนะที่น่าสนใจและชวนให้ฉันอยากไป สำหรับเมืองพระนครศรีอยุธยาที่เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและเป็นจุดศูนย์กลางของการสัญจรไปมาจากทั่วสารทิศ เพราะเป็นเกาะตั้งอยู่ตรงกลางที่มีแม่น้ำสามสายไหลผ่าน อยุธยาจึงเหมาะที่จะทำการค้าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งในสมัยก่อนเราให้ความสำคัญกับการเดินทางทางน้ำเป็นหลัก เราใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง การที่อยุธยามีแม่น้ำไหลผ่านถึง ๓ สาย จึงเปรียบเสมือนการมีถนนซูเปอร์ไฮเวย์มุ่งตรงมายังเมืองท่าสำคัญแห่งนี้ และสถานที่สำคัญตั้งแต่เมื่อครั้งอยุธยารุ่งเรืองและยังคงอยู่ให้เห็นกันจนถึงทุกวันนี้ คือ หัวรอ 



            หัวรอ เป็นท่าเทียบเรือที่เปิดใช้มายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ท่าเทียบเรือหัวรอแห่งนี้ ท่านขุนหัวรอวราลักษณ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ในสมัยนั้นท่าเทียบเรือแห่งนี้ได้เปิดให้ใช้กันฟรี ๆ ใครมีสินค้าใดก็นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ตามใจชอบ โดยมิได้มีการเรียกเก็บค่าเทียบเรือ ค่าจอดเรือ หรือภาษีใด ๆ



               คุณลุงเฉลิมโชค ตรีโภคา นายท่าหัวรอคนปัจจุบันซึ่งเป็นทายาทผู้ที่ได้รับเลือกให้สืบทอดกิจการท่าเรือหัวรอเป็นคนเล่าให้ฟังว่า “เพิ่งจะมีการเรียกเก็บเบี้ยค่าจอดเรือในสมัยของคุณยายผมนี่เอง  เมื่อก่อนให้ใช้กันฟรีๆ ไม่มีเรียกเก็บค่าอะไรใดๆทั้งนั้น  โอ๊ย! คึกคัก ขวักไขว่กันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ค่ำยันรุ่ง มีเรือขนของมาขายตลอดทั้งวัน คนซื้อก็ซื้อกันยังกับห้างสรรพสินค้า ท่าหัวรอนี่นะ สมัยก่อนมันก็เป็นตลาดน้ำนี่แหละ มีเรือทุกชนิด มีทั้งเรือเกียง เรือแจว  ใส่ของมาขายกันเต็มลำ บางลำมาจากบางบาล บางลำมาเสนา มาจากทั่วทุกสารทิศ มาชุมนุมกันที่นี่แหละ ที่นี่มีท่าเรืออยู่ ๒ แห่ง แยกประเภทกัน เรือขนสินค้ามาขึ้นที่ท่าหัวรอ..นี่ แต่ถ้าเป็นผักเป็นปลาไปขึ้นที่ท่าศาลเจ้า..นู่น แต่ต่อมายุคสมัยมันเปลี่ยนไป เขาก็ขนของขึ้นไปขายกันบนฝั่ง ที่เป็น “ตลาดหัวรอ” ที่เรารู้จักกันนั่นน่ะ เรือจะมาเทียบท่าเอาของขึ้นช่วงเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. กว่าตลาดจะวายก็บ่ายสองโมง นั่นแหละ”



จน ณ วันนี้ ก็ยังมีผู้คนที่ยังคงใช้ประโยชน์จากท่าเรือหัวรอแห่งนี้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะถึงอย่างไรแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ผู้คนที่นี่ยังคงยึดวิถีการใช้สายน้ำในการสัญจรไปมาให้เราได้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน วันนี้พอดีฉันได้มาเจอคุณลุงพ่อค้าขายผัดไทยอยู่ที่วัดท่าการ้อง คุณลุงมาซื้อของที่ตลาดหัวรอและกำลังลำเลียงขนของลงเรืออยู่พอดี คุณลุงบอกว่า “ใครจะใช้รถก็ใช้ไป แต่สำหรับผม เรือสำคัญที่สุด ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้เรืออยู่เป็นประจำ เป็นคนอยุธยาแท้ ๆ ต้องขับเรือเป็น ดูอย่างเมื่อปี ๒๕๕๔ สิ แหม! ถ้าไม่มีเรือล่ะแย่เลย ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่ ใครจะไปไหนก็ไปไม่ได้ แต่ผมสบาย เพราะผมใช้เรือ” พูดจบลุงก็ขนของเสร็จ สตาร์ทเครื่องเรือออกตัวด้วยความแรง โชว์ฝีมือการบังคับเรือหายวับไปกับตา



            ฉันเดินเล่นเรื่อย ๆ มา เพื่อมาดู “ท่าศาลเจ้า” ท่าเทียบเรือที่ได้รับการบอกเล่าจากคุณลุงทั้งสอง ท่าเรือก็อยู่ใกล้ ๆ กันนั่นแหละ แต่ที่ท่าศาลเจ้าแห่งนี้มีความพิเศษกว่าก็คืออยู่ตรงศาลเจ้าแม่ต้นจันทน์ ซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดไม่ใหญ่โตมาก แต่แลดูขลังและฉันสัมผัสได้ถึงพลังแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษา ณ ที่แห่งนี้ ศาลเจ้าแม่ต้นจันเป็นที่เคารพบูชาของคนในชุมชนหัวรอและชาวบ้านร้านตลาดที่มาจับจ่ายซื้อขายที่ตลาดหัวรอแห่งนี้มาช้านาน



ไหว้ศาลขอพรแล้ว ฉันก็เดินเข้ามาในตลาด บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา ผู้คนบางตา ร้านค้าบางร้านเพิ่งจะจัดเตรียมตั้งร้านนำของออกมาวางขาย แต่แม่ค้าแผงขายปลานี่สิคึกคักกว่าใครเขา ตะโกนคุยกันไปมาเสียงดังลั่นตลาดจนฉันต้องตามไปที่ต้นเสียง โอ้โห! โอ้แม่เจ้า! ปลาอะไรกันนี่ ทำไมตัวมันมหึมาเต็มกะละมังขนาดนี้ มีสารพัดปลา ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ แล้วไอ้เสียงที่คุยกันน่ะ บรรดาแม่ค้าแผงปลาเขาถามไถ่กันว่าใครได้ปลาอะไรมาบ้าง ปากก็ถามก็ตอบกันไป แต่มือก็ไม่อยู่นิ่ง ๆ ซอยกันเป็นระวิงเชียว พี่เขากำลังทำปลา ขอดเกล็ด กรีดพุงปลา ควักขี้ออก แล้วบั้งเป็นริ้ว ๆ เตรียมไว้ขายให้ลูกค้า เป็นบริการเสริมที่แม่ค้ายินดีทำด้วยความยิ้มแย้ม ทำไปยิ้มไป คุยกันไป




ฉันเข้าไปทักทายและถามไถ่ ว่านี่ปลาอะไรคะพี่ แม่ค้าแย่งกันตอบ บอกชื่อมาสารพัดปลาจนฉันจำไม่ได้สักกะชื่อเดียว แต่ฉันชอบนะ นี่คือสีสันบรรยากาศในตลาดสด “ตลาดหัวรอ”ที่มองมาจากภายนอกดูเหมือนจะเงียบเหงาเหมือนคนที่นั่งรอใครแบบใจจดใจจ่อ แต่พอได้เข้ามาข้างใน กลับมีแต่ความสดใสเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงทักทายกัน ฉันมองไปตรงไหนก็จะได้รับการ welcome ด้วยรอยยิ้มส่งกลับมา



ดูเหมือนพวกพ่อค้าแม่ค้าจะรู้ว่าฉันเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาซื้อของ ทุกสายตาพากันจ้องมองมาทำให้ฉันรู้สึกเขินอาย จำเป็นต้องหาที่กำบังกายสักแห่ง แว้บหายเข้าไปในร้านขายถ้วยชามรามไหนี่ล่ะวะกู โอ้โฮ! พระเจ้าชี้ทางชัด ๆ ใครอะไรดลใจให้ฉันเดินเข้ามาในร้านนี้ สวรรค์ของคนรักษ์แอนทีคอย่างฉัน เหมือนตกอยู่ในวังวน ภาชนะหม้อไหมีทั้งของเก่าและทำขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบ หม้อเคลือบ ปิ่นโตเคลือบ ถ้วยแก้วเจียระไน ชามลายโบราณ อยากได๊ อยากได้!! มันน่าซื้อจนแทบจะอดใจไม่ไหว ฉันกำลังจะคลั่งตาย ต้องหาอะไรมาดับกระหายความอยากได้เสียก่อน มองหาจนได้เจอ “ร้านน้ำชา”



ฉันรีบเดินตรงดิ่งมาที่ร้านน้ำชา สั่งชาร้อนมาระงับสติอารมณ์ ๑ แก้ว อารมณ์เริ่มผ่อนคลายความอยากได้เริ่มน้อยลง เหลือบมองไปโต๊ะข้าง ๆ มีคุณลุงสองคนนั่งคุยกันและเพื่อนร่วมวงสนทนาอีกคนคือพ่อค้าร้านน้ำชานี่แหละ ที่นี่คงจะเป็นสภากาแฟ ที่ที่คนจะมารวมตัวและแลกเปลี่ยนพุดคุยกันทุกเรื่องราว ซึ่งทุกวันนี้หาดูได้ยากแต่ที่นี่ยังมีให้เห็น “สภากาแฟที่ตลาดหัวรอ”



คุณลุงพงศักดิ์ ป้อมแก้ว หรือ “จ่าเปี๊ยก” ที่ชาวบ้านเขาเรียกกัน เล่าให้ฟังว่า “ผมมาตลาดหัวรอนี่ทุกวันตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม ๆ จนถึงทุกวันนี้เกษียณแล้วก็มาทุกวัน มานั่งกินกาแฟแก้วนึง คุยกับเพื่อนฝูงพอหอมปากหอมคอแล้วก็กลับบ้านไปนอนต่อ  โอ้โห! เมื่อก่อนคึกคักมาก คนต่างอำเภอต้องมาซื้อของที่นี่ ผักของชาวบ้านก็ลงเรือหางยาวมาขายที่นี่ เรือหาปลาก็มาขึ้นปลาที่นี่ ปลากระโห้..นะ ตัวใหญ่ ๆ..นะ มีเกล็ด..นะ ตัวมันใหญ่ ๆ เหมือนคนอ้วนน่ะ ที่เขาด่ากันว่า ไอ้หน้าปลากระโห้น่ะ เต็ม มีเยอะ มาขายกันถูก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี หายาก ตลาดก็เงียบ คนก็น้อยลง แต่ยังไงพวกผมก็ต้องมาทุกวัน” มันเป็นความผูกพันที่ขาดไม่ได้ต้องอยู่คู่กันไปจนวันตาย  นั่งคุยกับลุงสักพัก ฉันก็ขอตัวเดินดูให้ทั่วตลาด



เสน่ห์ของที่นี่ไม่ใช่มีเพียงแค่สินค้าผักปลาเท่านั้น หากแต่ยังมีความน่ารักของผู้คนชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าลุงป้าน้าอาน่ารักเหลือเกินสุดจะบรรยาย ถูกใจสตรีหนีเที่ยวอย่างฉัน เที่ยวแล้วต้องรู้ต้องเข้าใจ ในความบันเทิงนั้นควรต้องมีคุณค่าด้วย

ไปตลาดสนุกจริง ๆ ขอบอกว่า...อย่าพลาด! อยากหาคำตอบแบบฉลาด ๆ ไปดูได้ที่ตลาด

ฉันเดินออกมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและอิ่มเอมใจเปี่ยมไปด้วยความสุขที่ได้รับจากตลาดอย่างคาดไม่ถึง หากใครอยากได้รับความสุขแบบฉันนี้ ขอแนะนำให้มาพระนครศรีอยุธยาและห้ามพลาด “ตลาดหัวรอ” นะคะ


เกาะทองทะเลใต้...สานสายใย (สัมพันธ์) แห่งศรัทธา


วรรณี ตั้งกิจสงวน...เรื่อง วชิรากรณ์ สมบูรณ์...ภาพ 
ผลงานสารคดีรางวัลชมเชยจากโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสาร อ.ส.ท.  รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙
            
           “ศาลนักบุญมีมานานแล้ว ตั้งแต่หลังคาเป็นสังกะสี กรมศิลปากรมาบูรณะและย้ายไปอยู่ด้านหน้าอาคาร ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มากนะ ลุงได้เมียก็ที่นี่ ได้ลูกสองคนก็ที่นี่”
            
           ลุงเสนอ ไกลทองสุข อายุ ๖๗ ปี รับหน้าที่ดูแลหมู่บ้านโปรตุเกสให้กับกรมศิลปากร เล่าให้ฟังถึงความศรัทธาต่อศาลนักบุญ ก่อนกรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗

            ศาลนักบุญที่มีมาแต่เดิม กรมศิลปากรสร้างศาลใหม่ด้วยไม้รูปทรงไทยโบราณ หลังคาจั่วไม้กางเขน และย้ายที่ตั้งศาลมาอยู่ด้านหน้าอาคาร


            พื้นที่ละแวกนี้มีคนนับถือสามศาสนาอยู่ด้วยกัน บ้านประมาณ ๗-๘ หลังตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกบ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ด้านเหนือหลังกำแพงหมู่บ้านโปรตุเกส ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ด้านใต้

            ลุงเสนอยิ้มอย่างสุขใจ ยามบอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างของผู้คนรอบ ๆ บ้านที่ลุงเกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส



๑.

            หมู่บ้านโปรตุเกสเคยเป็นย่าน Downtown ของกรุงศรีอยุธยา

            เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนาที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ด้านตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีหมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม หมู่บ้านชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้และตะวันตกฝั่งเดียวกัน ภาพผู้คนสัญจรทางน้ำทางบกขวักไขว่ เรือเมล์ เรือสินค้าเต็มคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาบ่งบอกถึงย่านการค้า

            แต่ในวันนี้เหลือเพียงซากโบราณสถานและคุ้งน้ำอันเงียบเหงา

            ปัจจุบันหมู่บ้านโปรตุเกสไม่มีวัดคาทอลิกเหลืออยู่ ไม่เว้นแม้แต่วัดนักบุญยอแซฟของชาวฝรั่งเศสถูกทำลายยับเยินไปพร้อมกับพระราชวังหลวง วัดพุทธในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒



            ต่อมาในภายหลังพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเอลกัวซ์ เริ่มต้นฟื้นฟูวัดคริสต์ด้วยการซื้อที่ดินวัดนักบุญยอแซฟกลับคืนมา และรวบรวมชาวญวนคริสตังให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน สร้างวัดนักบุญยอแซฟขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมในปีพ.ศ. ๒๓๗๘ เพื่อเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนพิธี

            ความเสื่อมโทรมตามกาลเวลาย่อมเกิดขึ้น จึงมีการบูรณะซ่อมแซมวัดเรื่อยมา แต่ยังคงรักษาความสง่าอลังการของสถาปัตยกรรม ตลอดจนลวดลายอันงดงามของกระจกสีให้ปรากฏสีสันและเรื่องราวอยู่มาจนทุกวันนี้


๒.

            ไม่ได้แบ่งว่าใครนับถือศาสนาอะไร เป็นเพื่อนกันเชิญเขาก็มา

          หากไม่รู้จักถ้าไม่เชิญ ไม่มีใครกล้ามา แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน

            บ้านพี่รฐาอยู่ปากทางเข้าวัดนักบุญยอแซฟ กำลังจัดงานแต่งงาน แขกผู้ชายส่วนใหญ่สวมหมวกตะกียะห์ ผู้หญิงสวมฮิญาบ บ่งบอกว่าเป็นงานแต่งของชาวมุสลิม ถึงเวลาฤกษ์งามยามดีเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมารับเจ้าสาว ซึ่งก็คือ พี่รฐา


            เด็ก ๆ และญาติฝ่ายเจ้าสาวสนุกกับการกั้นประตูเงินประตูทอง หากเจ้าบ่าวต้องการเข้าบ้านมารับเจ้าสาวต้องควักซองให้ก่อนถึงจะเข้าได้ คล้ายธรรมเนียมไทยแต่โบราณ

            พี่รฐา โรจนสิทธิ์ อายุ ๔๓ ปี ยังเล่าเรื่องราวรอบ ๆ บ้านที่อยู่ใกล้ทั้งวัดพุทธ วัดคริสต์ และมัสยิด เกี่ยวกับการประกอบศาสนกิจว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่เกี่ยวข้องกัน วัดไทยสวดมนต์ทำวัตร วัดคริสต์ร้องเพลงสรรเสริญพระเยซู หรือแม้แต่มัสยิดละหมาด ทุกวัดและมัสยิดสวดออกลำโพงเสียงดังได้เช่นเดียวกัน ไม่มีใครต่อว่า อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข


๓.
            ทำไมต้องกุฎีช่อฟ้า?

            ครูอาซัน ตะเคียนเก้า เล่าว่า บ้านเรือนของชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้ของหมู่บ้านโปรตุเกส เริ่มสร้างมัสยิดด้วยไม้ รูปทรงไม่มีลักษณะเด่นเป็นสถาปัตยกรรมอิสลาม เรียกกันว่า “สุเหร่าต้นโพธิ์” และยังไม่มีชื่อเรียกมัสยิดอย่างเป็นทางการ

            ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสทางชลมารคเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงประทับในอาคารมัสยิด ท่านอิหม่ามโต๊ะกีแย้ม ตะเคียนคามขอพระราชทานชื่อมัสยิด พระองค์ทรงทอดพระเนตรรูปทรงหลังคาจั่วมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ จึงพระราชทานให้ชื่อว่า “มัสยิดกุฎีช่อฟ้า” พร้อมพระราชทาน “ตะเกียงช่อ”


            มัสยิดเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน ให้กับเด็ก ๆ รุ่นเล็กสอนให้ท่องจำก่อนยังไม่ต้องรู้ความหมาย โตหน่อยค่อยให้เรียนรู้ความหมาย สอนเฉพาะวันเสาร์ ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ไปโรงเรียนตามปกติ

            ครูฮาซันเล่าให้ฟังต่อว่า ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ละแวกคลองตะเคียนสืบเชื้อสายมาจากคนมลายู จึงเป็นเหตุให้เรียกคนมุสลิมที่นี่ว่าแขกตานี อาคารมัสยิดกุฎีช่อฟ้ามีการบูรณะเปลี่ยนแปลงอาคารไม้หลังเดิม วางรากฐานสร้างอาคารใหม่เปิดเป็นศูนย์อบรมจริยธรรม บรรยายศาสนธรรมให้กับชาวมุสลิม และเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน


๔.

                ห่างจากุฎีช่อฟ้าอีกอึดใจ วัดพุทไธศวรรย์

            ล่องเรือขึ้นเหนือจากหมู่บ้านโปรตุเกสตามคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลกันนัก จะพบวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า บริเวณวัดคือ พระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนยกเมืองย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสร้างพระราชวังที่บึงพระรามในปัจจุบัน ภายหลังครองราชย์สมบัติได้ ๓ ปี จึงสถาปนาพระอารามขึ้นเป็นอนุสรณ์ ถือเป็นวัดสร้างขึ้นในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แต่สิ่งก่อสร้างภายในวัดยังเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ เหตุเพราะวัดตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ทำให้ได้รับความเสียหายน้อยกว่าวัดที่อยู่ภายในเกาะเมือง ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำวัดและประกอบศาสนกิจอยู่เป็นปกติ


         อาคารสองชั้นทรงเรือสำเภา สร้างถัดจากพระอุโบสถไม่ปรากฏชื่อ แต่นักวิชาการในสมัยหลังเรียกว่า “ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรียงรายรอบทุกด้าน เป็นเรื่องไตรภูมิ ชาดก รวมถึงคนต่างชาติ แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
            การเป็นเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยาทำให้มีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน

๕.

            “พวกแกซื้อหมูให้ไม่ได้ พายายไปตลาดหน่อยก็แล้วกัน”

          ยายสาลี่ มากผาสุข อายุ ๗๒ ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมปากคลองตะเคียนก่อนไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา บอกเล่าให้ฟังถึงน้ำใจงามของเพื่อนบ้านมุสลิม

            ยายสาลี่เป็นคนพุทธบ้านเดียวในชุมชนมุสลิมแห่งนี้ เดิมทียายไม่ได้อาศัยอยู่ในละแวกนี้ เพิ่งย้ายมาตอนอายุ ๑๙ ปี ที่อยู่เดิมแล้งมากน้ำท่าไม่พอใช้ จึงตัดสินใจย้ายครัวมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนบ้านดูแลและช่วยเหลือกันดี เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในความแตกต่างของศาสนา

            ลูกหลานมุสลิมแถวนี้ยายก็เลี้ยงมาแต่น้อย อยู่มาอย่างนี้นานแล้ว


สายใยสัมพันธ์

            “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”

            เป็นชื่อพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งขึ้นเมื่อตอนสร้างเมือง เกาะเมืองอยุธยาตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่า ส่งผลให้ผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนามาอยู่รวมกัน เมื่อมีต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอยุธยา

            กษัตริย์ไทยแต่โบราณมามิได้นิ่งเฉยไม่ไยดีกับความเป็นอยู่ ทรงพระราชทานที่ดินรวมทั้งอนุญาตให้สร้างหมู่บ้านโปรตุเกส สร้างชุมชนมุสลิม วัดนักบุญยอแซฟ แม้กระทั่งชื่อมัสยิดยังทรงพระราชทานให้ แม้เปลี่ยนรูปการปกครองไปแล้วแต่ยังมีหน่วยงานราชการ เช่น กรมศิลปากรทำหน้าที่ดูแลโบราณสถานต่าง ๆ ในอยุธยาโดยไม่เลือกศาสนาแต่อย่างใด
 
            ไม่ว่าบรรพบุรุษแต่เดิมของลุงเสนอ ครูอาซัน พี่รฐา ยายสาลี่ จะเป็นใครมาจากไหน หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ไม่ได้ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันแปลกแยกแตกต่าง หากแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

            แม้วันนี้หมู่บ้านโปรตุเกสอาจเงียบเหงา ไม่หลงเหลือความเป็นย่าน Downtown แล้ว แต่สีสันวิถีชีวิตของผู้คนไม่เคยจางหายไป ผู้คนหลายเชื้อชาติหลายศาสนายังคงอยู่ร่วมกันด้วยสายใยสัมพันธ์แห่งความศรัทธาในเมืองท่าเมืองค้าขายที่มั่งคั่งคึกคักมาก จนชาวต่างชาติให้สมญานามว่า “เกาะทองทะเลใต้” วันเวลาแปรเปลี่ยนไป แต่สายใยของคนสามศาสนา ยังถักทอสายใยเหนียวแน่นไม่มีวันเปลี่ยนแปร


เอกสารอ้างอิง
ไกรฤกษ์ นานา.๕๐๐ปีสายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส.กรุงเทพฯ : มติชน.,๒๕๕๓
ชมรมมุสลิมมัสยิดกุฎีช่อฟ้า.หนังสืออนุสรณ์งาน “๔๐ ปี ชมช.”.
วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา.บ้านแรก วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ปฐมบทแห่งคาทอลิกไทย,เมษายน ๒๕๕๙.
http://siamportuguesestudy.blogsport.com/2010/06/blog-post_12.html
ขอขอบคุณ

ลุงเสนอ ไกลทองสุข, พี่รฐา โรจนสิทธิ์, ครูฮาซัน ตะเคียนเก้า, ยายสาลี่ มากผาสุข

Monday, October 3, 2016

“ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” เสน่ห์ที่ยังไม่เลือนหาย

การพบกันของพาหนะต่างยุค 

วัลยา  ทองหอม...เรื่อง วรางคณา  แสนเยีย ...ภาพ
ผลงานสารคดีจากผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสารอ.ส.ท. 
รุ่นที่ ๖ ปี ๒๕๕๙

เมื่อมาถึง “อยุธยา” จะเห็นว่ามีรถโดยสารสามล้อเครื่องรับจ้าง หรือที่เรียกกันว่า “ตุ๊กตุ๊ก” แต่ของที่นี่แตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากหัวรถมีลักษณะคล้ายสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กบ” ด้วยความมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ฉันหลงใหลในรูปโฉมจนอยากจะรู้จักเจ้ารถชนิดนี้ให้มากขึ้น ว่าเหตุไฉนหน้าตาจึงดูตลก มันเกี่ยวข้องอย่างไรกับกบตัวเป็นๆ บ้างหรือไม่

 ตุ๊กๆ หัวกบ แบบดั้งเดิม

จึงต้องไปสืบประวัติ “รถหัวกบ” จนได้ความมาว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประเทศญี่ปุ่นเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ (Daihatsu) รุ่นมิดเจ็ท ดีเค (Midget DK) เป็นรถสองจังหวะ ( ZA 250 cc)
มีไฟหน้าหนึ่งดวง และมีที่จับบังคับเหมือนรถจักรยานยนต์หรือที่เรียกว่า “แฮนด์”  ซึ่งเป็นรถต้นแบบ ตุ๊กตุ๊ก ของไทย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้ารถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิดเจ็ท ดีเค จากประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จำนวน ๓๐ คัน บรรทุกมาทางเรือขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย และนำออกจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในย่านเยาวราช โดยคนไทยในยุคนั้นเรียกกันว่า “สามล้อเครื่อง” ต่อมาภายหลังได้มีการนำเข้ารุ่นมิดเจ็ท เอ็มพี 4 (Midget MP4) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่เพิ่มส่วนประตูสองข้าง โดยได้ทำการขยายการจำหน่ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตรังอีกด้วย

 เครื่องยนต์ที่อยู่ใต้เบาะที่นั่งคนขับ

ต่อมามีการนำเข้าอีกรุ่นหนึ่งคือ มิดเจ็ท เอ็มพี 5 (Midget MP5) รถทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์เป็นแบบสองจังหวะ ๓๕๐ cc ระบายความร้อนด้วยอากาศธรรมดา กำลังเครื่องยนต์อยู่ที่ ๑๒ แรงม้า ระบบเกียร์ธรรมดา ๓ ระดับ น้ำหนักบรรทุกโดยรวมประมาณ ๓๕๐ kg ห้องคนขับมีประตูเปิด-ปิด ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ ความแตกต่างของรถรุ่นนี้คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ตรงไฟหน้ารถ รุ่น MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า รุ่น MP4

ลักษณะเด่นของทั้งสองรุ่นอยู่ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย เหมือนรถยนต์ทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากรถรุ่นแรกๆ ที่มีระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบรถจักรยานยนต์ จึงเป็นรถต้นแบบของรถตุ๊กตุ๊ก ที่วิ่งกันอยู่ในปัจจุบันของทั้งสองจังหวัด

เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นจึงมีการนำเข้ารถยี่ห้ออื่นๆ ตามมา เช่น ฮีโน่ มิตซูบิชิ เป็นต้น ในประเทศไทยยุคแรก รถตุ๊กตุ๊กที่มีใช้คือยี่ห้อ ฮอนด้า ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ ซึ่งตกอยู่ราวคันละเกือบ ๒๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันราคาถึงหลักแสน

 ตุ๊กตุ๊กหัวกบกับโบราณสถาน

คุณนภัทร์  สำลี หรือคุณจอย ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการถสามล้อเครื่องในอยุธยา มีรถอยู่ในความดูแลทั้งหมด ๑๕ คัน เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า คุณพ่อของคุณจอย ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเคยเป็นประธานสหกรณ์รถสามล้อเครื่องในจังหวัด แต่ภายหลังได้แยกตัวออกมาดำเนินกิจการเอง และคุณจอยได้สืบทอดกิจการต่อมา

ปัจจุบันรถของคุณจอยได้ดัดแปลงปรับรูปโฉมใหม่โดยจากตากลมมาเปลี่ยนให้เป็นสี่เหลี่ยมและต่อช่วงห้องผู้โดยสารให้กว้างและยาวขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่รูปทรงยังคงเอกลักษณ์ความเป็น ”หัวกบ” เอาไว้ เครื่องยนต์ของรถก็จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นเช่น ๖๕๐, ๘๐๐, ๙๐๐, ๑๐๐๐ ระบบเกียร์ มีทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้ รถทุกคันเปลี่ยนมาใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิง มีความทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้มีการออกแบบลวดลายเป็นโลโก้ให้กับรถและจดทะเบียนลิขสิทธิ์อีกด้วย เรียกว่าไม่ธรรมดาทีเดียวสำหรับรถคลาสสิคแบบนี้

เมื่อถามถึงความเป็นลักษณะเด่นของรถ คุณจอยได้กล่าวว่า “น่าจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ของรถที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ทั้งการบรรทุกคน สัมภาระสิ่งของต่าง ๆ หรือเป็นรถนำเที่ยวตามรีสอร์ท”  

“สีสัน ความบันเทิง” ความสุขของเจ้าของในการตกแต่งรถ 


“ ตุ๊กตุ๊ก” เสียงของท่อไอเสียอันเป็นเอกลักษณ์ดังสนั่นไปทั่วท้องถนน แต่กลับเป็นรถคันเล็กรูปทรงแปลกตา
มีลวดลายสารพัดสี แล้วแต่อารมณ์ของผู้ขับขี่ในการตกแต่งตามสไตล์ของตัวเอง ตากลมบ้าง ตาเหลี่ยมบ้าง  บางคันก็คงความเก่าไว้อย่างเหนียวแน่น

ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเจ้ารถชนิดนี้จะวิ่งวุ่นไปทั้งเมือง เป็นทั้งรถประจำทาง รถรับจ้างเหมา ขนทั้งคนและสิ่งของสารพัด เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เช้าตรู่ พ่อค้าแม่ค้าขนของไปขาย แม่บ้านไปจ่ายตลาด เด็ก ๆ เดินทางไปสถานศึกษา ข้าราชการเดินทางไปทำงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ขนจนรถเอียงไปข้างหนึ่งก็มี

  ตุ๊กๆ หัวกบ กับนักท่องเที่ยว

ฉันเหลือบไปเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเดินลงมาจากสถานีรถไฟ คนขับรถรีบวิ่งเข้าไปนำเสนอบริการอย่างขมีขมัน ก็เลยอยากรู้ขึ้นมาว่าสถานที่แห่งใดในพระนครศรีอยุธยานี้เป็นสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยว พอลองสอบถามจากบรรดาคนขับรถก็เลยทำให้ทราบว่าสถานที่แห่งนั้นคือวัดและโบราณสถาน เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตร วัดไชยวัฒนาราม วัดท่าการ้อง

ถ้าอยากทราบว่าแหล่งของกินที่ไหนอร่อยทั้งของคาวและของหวาน รับรองได้ว่าถ้าให้ ตุ๊กตุ๊ก นำทาง ท่านจะพบร้านอร่อยโดยไม่ผิดหวังแน่นอน หรือถ้าไปไหนไม่ถูกก็เรียกใช้บริการตุ๊กตุ๊ก นี่แหละ เพราะเข้าถึงได้ทุกตรอก ซอก ซอย ทั่วทุกมุมเมืองในอยุธยานี้ โดยไม่ต้องพึ่ง GPS หรือ Google map ให้เสียเวลา นี่คืออีกบทบาทของรถเล็ก ๆ คันหนึ่ง

เสน่ห์ของรถหัวกบมีมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย ด้วยความเก๋า มีการจัดตั้งชมรมคนรักตุ๊กตุ๊กเกิดขึ้น
ที่สำคัญมีอู่ซ่อมรถโดยเฉพาะ และยังดัดแปลงทำเป็นร้านค้าเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านสเต็ก
ร้านข้าวแกง ฯลฯ เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง
ตุ๊กๆ หัวกบ ถูกนำมาใช้ตกแต่งร้านเพื่อเพิ่มสีสัน 
ฉันได้ไปพบกับ ตุ๊กตุ๊ก คันหนึ่ง เธอจอดนิ่งสงบอยู่หน้าร้านอาหาร ไม่ได้ออกไปวิ่งโลดโผนเหมือนรถคันอื่น แต่เธอก็ทำให้คนมีความสุขได้ ด้วยรูปโฉมอันคลาสสิค และสีสันสดใสสะดุดตาต่อผู้พบเห็น จึงกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าตุ๊กตุ๊ก ไม่ได้เป็นเพียงรถโดยสารอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว 

เมื่อมองเห็นสภาพของรถบางคันมีร่องรอยของความเก่าแก่ อย่างเช่น แตกลายงา มีคราบสนิมกัดกร่อน เช่นเดียวกับสิ่งของอื่น ๆ ที่เก่าแล้วย่อมผุพังไปตามกาลเวลา หากแต่วิถีชีวิตของรถได้ผูกติดไว้กับวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นลมหายใจของรถก็คือลมหายใจของคนเช่นกัน

 ตุ๊กๆ หัวกบ ในอู่ซ่อมบำรุง

ได้รู้จักคุณลุงที่มีอาชีพขับรถตุ๊กๆ คือคุณลุงหวัง  พลีรักษ์ หรือ ลุงบัง “ ลุงเป็นชาวมุสลิมขับตุ๊กตุ๊ก มา ๒๐ ปี ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ก่อนหน้านี้เคยขับรถบรรทุก” ลุงบังได้บอกเล่าประสบการณ์ของชีวิตการขับรถตุ๊กตุ๊กให้ฉันฟัง และที่น่าประทับใจก็คือท่านได้พูดถึงหลักในการทำงานว่า “คือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การตรงต่อเวลา เมื่อถามถึงวันหยุด ลุงบังพูดว่า “ไม่มีวันหยุด วันหยุดคือวันที่เราป่วย”  และประโยคสุดท้ายที่ฉันได้รับรู้จากคนขับรถตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งว่า “อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคือการจัดระเบียบรถให้ดีขึ้น”

 ว่างจากการขับก็ใช้เป็นที่พักผ่อน

ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต หากเปรียบได้กับรถเมื่อเสียก็ต้องเข้าอู่ซ่อม แล้วยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยน แต่ชีวิตคนนั้นไม่มี สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความงดงามของจิตใจ และความรับผิดชอบต่อหน้าที่
เฉกเช่นคติในการทำงานของลุงบังคนขับรถตุ๊กตุ๊ก แห่งอยุธยา

เคยได้ยินคำพูดหนึ่งที่ว่า “ ชีวิตคือการเดินทาง” รถรับจ้างก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังมีผู้คนออกเดินทาง รถรับจ้างก็จะมีชีวิตชีวาโลดแล่นไปบนเส้นทางแห่งสีสันในมหานครเก่าแก่ที่เคยมีชื่อว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร ”

   ตุ๊กๆ หัวกบ ซิ่งไปทุกมุมเมือง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง http/www.wikiwand.com

ขอขอบพระคุณ กลุ่มผู้ประกอบการสามล้อเครื่องแห่งอยุธยา  คุณคุณนภัทร์  สำลี คุณลุงหวัง  พลีรักษ์
คุณธนภัทร  ทองพูล คุณมณีรัตน์  รวย
ลาภ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถเป็นอย่างดี
ขอขอบพระคุณ อู่ซ่อมรถช่างโอ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ