เสาวลักษณ์ บุญเกิด...เรื่อง ศิลปวิชย์ บุณยะภูติ...ภาพ
ผลงานสารคดีรางวัลชมเชยด้านเนื้อหาสารคดี
จากผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท.รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙
จากผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท.รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙
“จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ราชธานีเก่าของไทยแห่งนี้
ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่เจริญมั่งคั่ง
มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศ หลักฐานที่แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความรุ่งเรืองนั้น
นอกจากตัวหนังสือที่บันทึกในตำราต่าง ๆ ให้เราไปได้เรียนรู้กันแล้ว
ซากปรักหักพังของโบราณสถานต่าง ๆ
ก็เป็นอีกสิ่งที่ชี้ชัดถึงความความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างดี
ทุกครั้งที่ฉันได้ยืนมองภาพวัดวาอารามเก่าแก่ที่นี่
ก็นึกอยากให้มีโดราเอมอนอยู่ในโลกความจริงขึ้นมาทุกที
อยากจะขอไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว
เพื่อไปสัมผัสกับความงดงามของอาณาจักรแห่งนี้ แต่ก็คงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน
เพราะความจริงคงทำได้แค่เพียงนึกภาพจินตนาการจากซากปรักหักพังที่เห็นอยู่เบื้องหน้า
วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมากมายหลายร้อยวัด
แต่ละวัดล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น “วัดราชบูรณะ”
ก็เช่นกัน มีเรื่องน่าสนใจทั้งประวัติการสร้าง กรุสมบัติล้ำค่า
หรือแม้กระทั่งความลี้ลับที่มีผู้คนเล่าต่อ ๆ กันมามากมาย แต่เรื่องที่ดูแล้วผู้คนจะสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นข่าวกรุวัดราชบูรณะแตก ที่เคยโด่งดังครึกโครมเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
ในตอนนั้นมีโจรลักลอบขโมยขุดเครื่องทองไปเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งเรื่องอาถรรพ์นานาที่เกิดขึ้นจากกรุสมบัติแห่งนี้ และหลังจากละครทีวี “พิษสวาท” ออกฉายสู่สายตาคนไทย
ก็ยิ่งทำให้วัดราชบูรณะเป็นที่น่าสนใจ ผู้คนหลั่งไหลมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย
บ้างก็มาเพื่อเยี่ยมชมความงดงามของวัด บ้างก็อยากมาหาคุณอุบล
ตัวละครเอกในละครพิษสวาทที่บางคนเชื่อว่ามีอยู่จริง
“มีป้าคนหนึ่งเดินเข้ามาถามผม น้อง ๆ
คุณอุบลอยู่ในเจดีย์ไหน บางคนก็มาถามหาวัดราชบดินทร์อยู่ตรงไหน ผมก็มองหน้าเขานะ
อายุปูนนี้แล้วหนังสือประวัติศาสตร์อ่านกันบ้างหรือเปล่า” ลุงสมาน คนขับรถตุ๊กตุ๊กเล่าให้ฉันฟัง
เล่าไปขำไป ฉันได้ฟังก็อดหัวเราะตามไม่ได้
ใครที่เดินทางมาเที่ยวที่วัดแห่งนี้
ล้วนอยากจะลองเข้าไปชมกรุสมบัติ ซึ่งเป็นที่เก็บเครื่องทอง พระแสงขรรค์ชัยศรี
เครื่องประดับต่าง ๆ มากมาย ทั้งยังมีพระพุทธรูปทองคำอีกหลายองค์
สมบัติเหล่านี้ถูกคนร้ายลักลอบลงไปขุดในกรุพระปรางค์ แล้วขโมยไปจำนวนมหาศาล
โดยทางเจ้าหน้าที่สามารถตามกลับคืนมาได้เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากนั้นเมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะองค์พระปรางค์
ก็ได้พบกับกรุบริวารทั้ง ๕ กรุ ซึ่งภายในแต่ละกรุนั้นพบพระพุทธรูปและพระพิมพ์ต่าง
ๆ นับแสนองค์
“คนสมัยก่อนเขาไม่ค่อยสนใจพระพิมพ์กันลูก
เขาสนใจเครื่องทองกันมากกว่า พระพิมพ์สมัยนั้นเลยไม่ค่อยมีราคา
กรมศิลป์ขุดมาก็เอามาให้เช่าบ้าง
เอามาเป็นของสมนาคุณให้คนที่บริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์บ้าง” ครูแดง อยุธยา เซียนพระชื่อดังของจังหวัดกล่าวกับฉัน
ก็จริงอย่างที่ครูแดงพูดกับฉัน
คนให้ความสนใจกับเครื่องทองกันมากมายจนมองข้ามความงามทางศิลปะ ทางสถาปัตยกรรม
หรือแม้กระทั่งโบราณวัตถุอย่างพระพิมพ์ ที่ปัจจุบันราคาซื้อขายกันถึงหลักแสน
ครูแดง หรือคุณลุงปรีชา โพธิ์หิรัญ
มีความเชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ฉันได้ถามคำถามครูแดงเกี่ยวกับพระพิมพ์หลายคำถาม
“ตอนกรมศิลปากรเข้ามาขุด ครูยังเด็กอยู่เลย
พ่อตาครูเล่าให้ฟังว่า มีพวกเซียนพระหลายคนมาคอยดูว่าจะเจอพระกรุไหม
แต่ทางเจ้าหน้าที่เขากั้นไม่ให้ใครเข้าไปหรอก มันก็มีชาวบ้านเข้าไปช่วยขุดบ้าง
พวกเซียนพระก็แอบอยู่ตามข้างต้นไม้มืด ๆ
พอชาวบ้านเดินออกมาพวกเซียนพระก็จะวิ่งปรี่เข้าไปหา ไปถามว่ามีพระไหม มีพระไหม
ชาวบ้านเขาก็งง ตกใจกันใหญ่ พระอะไรของพวกมึงวะ” ครูแดง
เล่าไปขำไป ฉันก็ได้แต่คิดตามถึงภาพบรรยากาศที่ครูแดงได้เล่า
ในวัยเด็กฉันมีโอกาสได้มาที่วัดแห่งนี้หลายต่อหลายครั้ง
เพราะคุณพ่อของฉันท่านชื่นชอบพระพิมพ์กรุวัดราชบูรณะเป็นอย่างมาก
สมัยนั้นเวลาที่ฉันขึ้นไปด้านบนพระปรางค์ ก็ได้แต่ยืนมองดูผู้คนต่อแถวลงไปในกรุ
ตอนนั้นฉันกลัวมากไม่กล้าลงไป กลัวผีเฝ้าสมบัติที่พ่อเล่ากรอกหูให้ฉันฟังอยู่บ่อย
ๆ
พอเริ่มโตขึ้น
ฉันยังอยากกลับไปที่วัดแห่งนี้อีกสักครั้ง แต่ยังหาโอกาสไม่ได้สักที
ได้แต่อ่านหนังสือ อ่านบทความตามเว็บไซต์ในเรื่องต่าง ๆ ของวัดนี้
อ่านจนมีคำถามมากมายอยู่ในหัว พอครั้งนี้มีโอกาสฉันก็ไม่รีรอที่จะไปยังวัดราชบูรณะ
วัดในความทรงจำวัยเด็กของฉัน
ระหว่างทางไปวัดราชบูรณะ
ฉันได้แวะร้านกาแฟบริเวณตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ และได้พบกับคุณน้าวีรวรรณ
อรุณเกษม เจ้าของร้าน หลังจากนั่งจิบกาแฟไปสักพัก ฉันจึงลุกขึ้นเดินไปหาคุณน้า
เพื่อถามคำถามที่ฉันอยากรู้หลายคำถาม แม้คุณน้าเกิดจะไม่ได้เห็นภาพบรรยากาศในวันขุดกรุ
แต่ก็พอได้ยินเรื่องราวในวันนั้นที่บอกเล่ากันมา
“น้าเกิดไม่ทันหรอกลูก
แต่ก็พอได้ยินจากผู้ใหญ่มาบ้าง โจรที่เข้าไปขุดกรุ เขาก็มาเล่าให้ฟัง
ว่าเพื่อนที่ลงไปเงยหน้าขึ้นมา หน้านี่เป็นสีทองเลย พอเขาตามเพื่อนลงไป
เขาบอกทองเต็มไปหมด เพื่อนเขาก็ไปหยิบพระแสงขรรค์มา พอจะชักออก ฟ้าก็ผ่าลงมาข้าง ๆ
เจดีย์” คุณน้าวีรวรรณเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ร้ายที่ลักลอบขุดกรุให้ฉันฟัง
ฉันเลยถือโอกาสถามถึงเรื่องลี้ลับที่วัดราชบูรณะ
คุณน้าก็เล่าเรื่องที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงาน “ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ให้ฉันได้ฟังอีก ว่า
“มีนักท่องเที่ยวมากันสี่คน
จะมางานยอยศยิ่งฟ้ากัน พอเขามาถึงร้านน้าประมาณหกโมงเย็นได้
เขาก็ถามใหญ่เลยว่าทำไมการแสดงแสงสีเสียงจัดเร็วจัง ว่าจะมาดูรอบแรก น้าก็ทำท่างง
แล้วบอกว่าการแสดงยังไม่เริ่มเลย เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่เริ่มได้ไง
เขาขับรถผ่านมาเห็นคนใส่ชุดไทย ชุดทหารยืนบนพระปรางค์เต็มไปหมด
แล้วเขาก็ชี้นิ้วไปทางวัดราชบูรณะ น้าก็ตกใจนะหนู เพราะวัดที่เขาจัดการแสดง
เขาใช้วัดมหาธาตุ จะเห็นคนแสดงที่วัดราชบูรณะได้ไง น้าก็ชวนลูกน้องเดินไปดูที่วัดราชบูรณะกัน
มันก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ติดไฟไว้นิดหน่อย รถก็จอดเต็มไปหมด” คุณน้าเล่าพร้อมส่งแขนที่ขนกำลังลุกพองให้ฉันดู
ฉันได้ฟังก็เพิ่มความน่ากลัวในวัยเด็กมากขึ้นไปอีก
จิตรกรรมฝาผนังภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ |
เมื่อฉันมาถึงวัดราชบูรณะ
ก็ได้ตรงขึ้นไปยังท้องพระปรางค์ ณ ตอนนั้นไม่มีใครกล้าลงไปในกรุด้านล่างเลยสักคน
ฉันเองก็เช่นกัน แต่ฉันพยายามลบภาพความกลัวในวัยเด็กแล้วก้าวเท้าลงอย่างช้า ๆ
เพราะบันไดค่อนข้างชัน เอาเข้าจริงแล้วที่กล้าลงไปก็เพราะมีพี่ ๆ ลงไปด้วยหลายคน ไม่ได้เพราะความกล้าของฉันแต่อย่างใด
กรุในพระปรางค์แห่งนี้มีอยู่ ๓ ชั้น แต่พอลงไปถึงยังกรุชั้นสุดท้าย ก็คือชั้นที่ ๓
แม้จะเป็นพื้นที่แคบ ๆ
แต่ฉันก็อยากจะเก็บภาพความงดงามของจิตรกรรมบนฝาผนังไว้ให้นานที่สุด
หลายคนให้ความสนใจกับวัดราชบูรณะเพียงเพราะเรื่องราวของสมบัติที่ขุดพบ
แต่สำหรับฉันแล้วนั้น ความงดงามของสถาปัตยกรรม
เรื่องราวที่คนรุ่นเก่าพยายามถ่ายทอดผ่านสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้เห็น
มันเป็นสิ่งที่ล้ำค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ทั้งสิ้น
หลังจากที่ฉันได้ไปชมโบราณสถานที่วัดราชบูรณะแล้ว
ฉันก็ได้เดินทางต่อไปยัง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” สถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
และวัดอื่น ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉันได้ไปเยี่ยมชมเครื่องทอง
และพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่ได้มาจากโบราณสถานต่าง ๆ
ความงดงามนั้นเทียบไม่ได้กับคำบอกเล่าที่ได้ยินมา เห็นแล้วก็นึกดีใจที่สมบัติเหล่านี้ยังคงอยู่ให้เราได้เห็นเป็นสมบัติของชาติ
ไม่ได้ตกเป็นสมบัติของคนใดคนหนึ่ง
ฉันได้ถามพี่ผึ้ง
ศศิธร โตวินัส ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ถึงเรื่องราวที่ได้ยินมาเกี่ยวกับการจับกุมผู้ร้าย โดยยึดของกลางมาได้ขณะคนร้ายกำลังเอามงกุฎใส่หัว
มือถือพระขรรค์แต่งตัวเป็นกษัตริย์ร้องลิเกรำให้คนดูอยู่ที่ตลาดหัวรอ
พี่ผึ้งได้ยินแล้วก็ขำ
“เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาเล่า ๆ กันมา
แต่ไม่ใช่เรื่องจริงเลย สาเหตุของการจับกุมได้นั้น
ก็เพราะมีพลตำรวจนายหนึ่งที่เป็นหนึ่งในคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุ
กินเหล้าเมาแอ๋ขึ้นมาพบผู้กำกับบนโรงพัก ซึ่งขณะนั้นก็คือ พันตำรวจโท วุฒิ
สมุทรประภูติ แล้วพูดจาทำนองว่า วันนี้รวยมา ได้สมบัติมาเยอะ
ผู้กำกับสนใจจะแบ่งไปบ้างไหม พอผู้กำกับสอบถามก็ได้รับรู้ความจริง
และรีบดำเนินการจับกุมตำรวจนายนี้ พร้อมคนร้ายคนอื่น ๆ ได้ทัน” พี่ผึ้งเล่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นให้ฉันฟัง
หลังจากที่ฉันได้ฟังเรื่องราวจากพี่ผึ้งแล้ว
สิ่งเดียวที่คิดอยู่ในใจคืออยากจะขอบคุณผู้กำกับท่านนี้
ที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิด
เพราะถ้าวันนั้นท่านเกิดความโลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของ ๆ ตน
วันนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นสมบัติของชาติที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นได้
โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นมีอยู่มากมายจริง ๆ
บางแห่งถูกปล่อยร้าง บางแห่งถูกบูรณะดูแล บางแห่งมีการขุดหาสมบัติ
บางแห่งยังคงมีเรื่องราวอาถรรพ์ อย่าง “วัดกุฎีดาว” สถานที่สุดท้ายที่อยากจะเชิญชวนให้ผู้คนได้ไปสัมผัสกับโบราณสถานที่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์
แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ
ชาวบ้านในพื้นที่บางคนยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัดแห่งนี้สักเท่าไหร่
ภายในวัดจะได้พบกับสถาปัตยกรรมที่งดงามในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังมีเจดีย์ประธานทรงระฆังย่อมุมไม้ยี่สิบ
ส่วนยอดของเจดีย์หักลงมาอยู่บริเวณข้าง ๆ ถึงแม้จะเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ
แต่ก็มีความงดงามที่แตกต่างไม่เหมือนที่ใด
วัดกุฎีดาวนั้น บางคนอาจจะได้ยินชื่อวัดแห่งนี้มาจากเรื่องเล่าของพระองค์เจ้าพีระพงษ์ภานุเดช
หรือเรียกพระนามโดยทั่วไปว่า “พระองค์เจ้าพีระฯ”
ผู้ไม่เชื่อเลยว่าภูตผีปีศาจมีอยู่จริง พระองค์ได้ลายแทงขุมสมบัติ
แล้วทำการตกลงกับทางกรมศิลปากรว่าจะแบ่งให้เป็นสมบัติชาติ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก
๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของพระองค์ หลังจากทางกรมศิลป์ตกลง
พระองค์ก็ลงมือขุดโดยมีเครื่อง ไมน์ ดีเทคเตอร์ เป็นตัวช่วยสำคัญในการค้นหา
ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทำพิธีบรวงสรวงเจ้าที่ตามที่ผู้รู้แนะนำ
จึงทำให้ต้องเผชิญกับวิญญาณปู่โสมเฝ้าทรัพย์ตามเรื่องเล่าที่พระองค์ได้เขียนไว้
ทั้งที่เครื่องมือวิทยาศาสตร์จะบอกว่าใต้แผ่นดินมีสมบัติอยู่
แม้จะพยายามขุดลึกลงไปเท่าใด พระองค์ก็ขุดไม่พบ
แต่กลับได้ยินเสียงเหมือนมีอะไรเคลื่อนอยู่ใต้ดิน
ซึ่งสิ่งนี้ใครต่อใครก็เชื่อว่าเป็นอำนาจของปู่โสม หรือบางตำนานกล่าวว่าคือ นายนาก
ทหารที่โดนตัดคอ ชาวบ้านที่ผ่านไปมาในละแวกนี้
บางคนก็เคยพบเจอกับวิญญาณทหารคอขาดผู้นี้เดินวนเวียนอยู่ในเขตวัด จนต้องมีการสร้างศาลขึ้น
ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่กรมศิลปากรยอมให้มีการสร้างศาลขึ้นในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้
ไม่ว่าเรื่องราวอาถรรพ์ที่ได้ยินมาจะเป็นจริงหรือไม่
แต่ฉันก็คิดว่าในมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี
บางทีอาถรรพ์ที่ว่าอาจเป็นเพียงกุศโลบายที่จะช่วยรักษาสมบัติของชาติไว้ให้คงอยู่
ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาและป้องกันไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยความโลภไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์
มุมหนึ่งฉันนึกอยากให้มีคนอย่างลุงสมาน ครูแดง
น้าวีรวรรณ หรือพี่ผึ้ง เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวภาพความทรงจำเหล่านี้สืบต่อไป
เหมือนกับนวนิยายเรื่องพิษสวาทที่บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงนิยาย
เป็นเรื่องแต่งประโลมโลก แต่ภายในเรื่องก็มีข้อคิดดี ๆ มากมาย
ที่สอนให้เรารู้จักหวงแหนสมบัติของชาติ
ไม่ว่าภายใต้พื้นแผ่นดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีสมบัติอยู่อีกมากมายเพียงใด
ฉันก็ได้แต่หวังให้สมบัติอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น
อยู่เป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา หรือหากมีการขุดพบ
ก็ภาวนาให้อยู่ในสถานที่ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมต่อไป