Monday, October 3, 2016

“ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” เสน่ห์ที่ยังไม่เลือนหาย

การพบกันของพาหนะต่างยุค 

วัลยา  ทองหอม...เรื่อง วรางคณา  แสนเยีย ...ภาพ
ผลงานสารคดีจากผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสารอ.ส.ท. 
รุ่นที่ ๖ ปี ๒๕๕๙

เมื่อมาถึง “อยุธยา” จะเห็นว่ามีรถโดยสารสามล้อเครื่องรับจ้าง หรือที่เรียกกันว่า “ตุ๊กตุ๊ก” แต่ของที่นี่แตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากหัวรถมีลักษณะคล้ายสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กบ” ด้วยความมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ฉันหลงใหลในรูปโฉมจนอยากจะรู้จักเจ้ารถชนิดนี้ให้มากขึ้น ว่าเหตุไฉนหน้าตาจึงดูตลก มันเกี่ยวข้องอย่างไรกับกบตัวเป็นๆ บ้างหรือไม่

 ตุ๊กๆ หัวกบ แบบดั้งเดิม

จึงต้องไปสืบประวัติ “รถหัวกบ” จนได้ความมาว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประเทศญี่ปุ่นเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ (Daihatsu) รุ่นมิดเจ็ท ดีเค (Midget DK) เป็นรถสองจังหวะ ( ZA 250 cc)
มีไฟหน้าหนึ่งดวง และมีที่จับบังคับเหมือนรถจักรยานยนต์หรือที่เรียกว่า “แฮนด์”  ซึ่งเป็นรถต้นแบบ ตุ๊กตุ๊ก ของไทย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้ารถบรรทุกสามล้อ ยี่ห้อไดฮัทสุ รุ่นมิดเจ็ท ดีเค จากประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จำนวน ๓๐ คัน บรรทุกมาทางเรือขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย และนำออกจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในย่านเยาวราช โดยคนไทยในยุคนั้นเรียกกันว่า “สามล้อเครื่อง” ต่อมาภายหลังได้มีการนำเข้ารุ่นมิดเจ็ท เอ็มพี 4 (Midget MP4) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่เพิ่มส่วนประตูสองข้าง โดยได้ทำการขยายการจำหน่ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดตรังอีกด้วย

 เครื่องยนต์ที่อยู่ใต้เบาะที่นั่งคนขับ

ต่อมามีการนำเข้าอีกรุ่นหนึ่งคือ มิดเจ็ท เอ็มพี 5 (Midget MP5) รถทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์เป็นแบบสองจังหวะ ๓๕๐ cc ระบายความร้อนด้วยอากาศธรรมดา กำลังเครื่องยนต์อยู่ที่ ๑๒ แรงม้า ระบบเกียร์ธรรมดา ๓ ระดับ น้ำหนักบรรทุกโดยรวมประมาณ ๓๕๐ kg ห้องคนขับมีประตูเปิด-ปิด ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ ความแตกต่างของรถรุ่นนี้คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ตรงไฟหน้ารถ รุ่น MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า รุ่น MP4

ลักษณะเด่นของทั้งสองรุ่นอยู่ที่ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบพวงมาลัย เหมือนรถยนต์ทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากรถรุ่นแรกๆ ที่มีระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบรถจักรยานยนต์ จึงเป็นรถต้นแบบของรถตุ๊กตุ๊ก ที่วิ่งกันอยู่ในปัจจุบันของทั้งสองจังหวัด

เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นจึงมีการนำเข้ารถยี่ห้ออื่นๆ ตามมา เช่น ฮีโน่ มิตซูบิชิ เป็นต้น ในประเทศไทยยุคแรก รถตุ๊กตุ๊กที่มีใช้คือยี่ห้อ ฮอนด้า ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ ซึ่งตกอยู่ราวคันละเกือบ ๒๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันราคาถึงหลักแสน

 ตุ๊กตุ๊กหัวกบกับโบราณสถาน

คุณนภัทร์  สำลี หรือคุณจอย ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการถสามล้อเครื่องในอยุธยา มีรถอยู่ในความดูแลทั้งหมด ๑๕ คัน เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า คุณพ่อของคุณจอย ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเคยเป็นประธานสหกรณ์รถสามล้อเครื่องในจังหวัด แต่ภายหลังได้แยกตัวออกมาดำเนินกิจการเอง และคุณจอยได้สืบทอดกิจการต่อมา

ปัจจุบันรถของคุณจอยได้ดัดแปลงปรับรูปโฉมใหม่โดยจากตากลมมาเปลี่ยนให้เป็นสี่เหลี่ยมและต่อช่วงห้องผู้โดยสารให้กว้างและยาวขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่รูปทรงยังคงเอกลักษณ์ความเป็น ”หัวกบ” เอาไว้ เครื่องยนต์ของรถก็จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นเช่น ๖๕๐, ๘๐๐, ๙๐๐, ๑๐๐๐ ระบบเกียร์ มีทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้ รถทุกคันเปลี่ยนมาใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิง มีความทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้มีการออกแบบลวดลายเป็นโลโก้ให้กับรถและจดทะเบียนลิขสิทธิ์อีกด้วย เรียกว่าไม่ธรรมดาทีเดียวสำหรับรถคลาสสิคแบบนี้

เมื่อถามถึงความเป็นลักษณะเด่นของรถ คุณจอยได้กล่าวว่า “น่าจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ของรถที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ทั้งการบรรทุกคน สัมภาระสิ่งของต่าง ๆ หรือเป็นรถนำเที่ยวตามรีสอร์ท”  

“สีสัน ความบันเทิง” ความสุขของเจ้าของในการตกแต่งรถ 


“ ตุ๊กตุ๊ก” เสียงของท่อไอเสียอันเป็นเอกลักษณ์ดังสนั่นไปทั่วท้องถนน แต่กลับเป็นรถคันเล็กรูปทรงแปลกตา
มีลวดลายสารพัดสี แล้วแต่อารมณ์ของผู้ขับขี่ในการตกแต่งตามสไตล์ของตัวเอง ตากลมบ้าง ตาเหลี่ยมบ้าง  บางคันก็คงความเก่าไว้อย่างเหนียวแน่น

ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเจ้ารถชนิดนี้จะวิ่งวุ่นไปทั้งเมือง เป็นทั้งรถประจำทาง รถรับจ้างเหมา ขนทั้งคนและสิ่งของสารพัด เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เช้าตรู่ พ่อค้าแม่ค้าขนของไปขาย แม่บ้านไปจ่ายตลาด เด็ก ๆ เดินทางไปสถานศึกษา ข้าราชการเดินทางไปทำงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ขนจนรถเอียงไปข้างหนึ่งก็มี

  ตุ๊กๆ หัวกบ กับนักท่องเที่ยว

ฉันเหลือบไปเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเดินลงมาจากสถานีรถไฟ คนขับรถรีบวิ่งเข้าไปนำเสนอบริการอย่างขมีขมัน ก็เลยอยากรู้ขึ้นมาว่าสถานที่แห่งใดในพระนครศรีอยุธยานี้เป็นสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยว พอลองสอบถามจากบรรดาคนขับรถก็เลยทำให้ทราบว่าสถานที่แห่งนั้นคือวัดและโบราณสถาน เช่น วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารพระมงคลบพิตร วัดไชยวัฒนาราม วัดท่าการ้อง

ถ้าอยากทราบว่าแหล่งของกินที่ไหนอร่อยทั้งของคาวและของหวาน รับรองได้ว่าถ้าให้ ตุ๊กตุ๊ก นำทาง ท่านจะพบร้านอร่อยโดยไม่ผิดหวังแน่นอน หรือถ้าไปไหนไม่ถูกก็เรียกใช้บริการตุ๊กตุ๊ก นี่แหละ เพราะเข้าถึงได้ทุกตรอก ซอก ซอย ทั่วทุกมุมเมืองในอยุธยานี้ โดยไม่ต้องพึ่ง GPS หรือ Google map ให้เสียเวลา นี่คืออีกบทบาทของรถเล็ก ๆ คันหนึ่ง

เสน่ห์ของรถหัวกบมีมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย ด้วยความเก๋า มีการจัดตั้งชมรมคนรักตุ๊กตุ๊กเกิดขึ้น
ที่สำคัญมีอู่ซ่อมรถโดยเฉพาะ และยังดัดแปลงทำเป็นร้านค้าเคลื่อนที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านสเต็ก
ร้านข้าวแกง ฯลฯ เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง
ตุ๊กๆ หัวกบ ถูกนำมาใช้ตกแต่งร้านเพื่อเพิ่มสีสัน 
ฉันได้ไปพบกับ ตุ๊กตุ๊ก คันหนึ่ง เธอจอดนิ่งสงบอยู่หน้าร้านอาหาร ไม่ได้ออกไปวิ่งโลดโผนเหมือนรถคันอื่น แต่เธอก็ทำให้คนมีความสุขได้ ด้วยรูปโฉมอันคลาสสิค และสีสันสดใสสะดุดตาต่อผู้พบเห็น จึงกลายเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าตุ๊กตุ๊ก ไม่ได้เป็นเพียงรถโดยสารอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว 

เมื่อมองเห็นสภาพของรถบางคันมีร่องรอยของความเก่าแก่ อย่างเช่น แตกลายงา มีคราบสนิมกัดกร่อน เช่นเดียวกับสิ่งของอื่น ๆ ที่เก่าแล้วย่อมผุพังไปตามกาลเวลา หากแต่วิถีชีวิตของรถได้ผูกติดไว้กับวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นลมหายใจของรถก็คือลมหายใจของคนเช่นกัน

 ตุ๊กๆ หัวกบ ในอู่ซ่อมบำรุง

ได้รู้จักคุณลุงที่มีอาชีพขับรถตุ๊กๆ คือคุณลุงหวัง  พลีรักษ์ หรือ ลุงบัง “ ลุงเป็นชาวมุสลิมขับตุ๊กตุ๊ก มา ๒๐ ปี ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม ก่อนหน้านี้เคยขับรถบรรทุก” ลุงบังได้บอกเล่าประสบการณ์ของชีวิตการขับรถตุ๊กตุ๊กให้ฉันฟัง และที่น่าประทับใจก็คือท่านได้พูดถึงหลักในการทำงานว่า “คือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การตรงต่อเวลา เมื่อถามถึงวันหยุด ลุงบังพูดว่า “ไม่มีวันหยุด วันหยุดคือวันที่เราป่วย”  และประโยคสุดท้ายที่ฉันได้รับรู้จากคนขับรถตุ๊กตุ๊กคนหนึ่งว่า “อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคือการจัดระเบียบรถให้ดีขึ้น”

 ว่างจากการขับก็ใช้เป็นที่พักผ่อน

ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต หากเปรียบได้กับรถเมื่อเสียก็ต้องเข้าอู่ซ่อม แล้วยังมีอะไหล่ให้เปลี่ยน แต่ชีวิตคนนั้นไม่มี สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความงดงามของจิตใจ และความรับผิดชอบต่อหน้าที่
เฉกเช่นคติในการทำงานของลุงบังคนขับรถตุ๊กตุ๊ก แห่งอยุธยา

เคยได้ยินคำพูดหนึ่งที่ว่า “ ชีวิตคือการเดินทาง” รถรับจ้างก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่ยังมีผู้คนออกเดินทาง รถรับจ้างก็จะมีชีวิตชีวาโลดแล่นไปบนเส้นทางแห่งสีสันในมหานครเก่าแก่ที่เคยมีชื่อว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร ”

   ตุ๊กๆ หัวกบ ซิ่งไปทุกมุมเมือง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง http/www.wikiwand.com

ขอขอบพระคุณ กลุ่มผู้ประกอบการสามล้อเครื่องแห่งอยุธยา  คุณคุณนภัทร์  สำลี คุณลุงหวัง  พลีรักษ์
คุณธนภัทร  ทองพูล คุณมณีรัตน์  รวย
ลาภ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถเป็นอย่างดี
ขอขอบพระคุณ อู่ซ่อมรถช่างโอ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ

1 comment:

  1. I found this blog after a long time which is really helpful to let understand different approaches. I am going to adopt these new point to my career and thankful for this help.รถกอล์ฟ ไฟฟ้า

    ReplyDelete