Wednesday, November 2, 2016

“กรุ กรุง เก่า” เขาเล่าว่า


เสาวลักษณ์ บุญเกิด...เรื่อง ศิลปวิชย์ บุณยะภูติ...ภาพ
ผลงานสารคดีรางวัลชมเชยด้านเนื้อหาสารคดี
จากผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท.รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙ 

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าของไทยแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่เจริญมั่งคั่ง มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศ หลักฐานที่แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความรุ่งเรืองนั้น นอกจากตัวหนังสือที่บันทึกในตำราต่าง ๆ ให้เราไปได้เรียนรู้กันแล้ว ซากปรักหักพังของโบราณสถานต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่ชี้ชัดถึงความความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างดี 

ทุกครั้งที่ฉันได้ยืนมองภาพวัดวาอารามเก่าแก่ที่นี่ ก็นึกอยากให้มีโดราเอมอนอยู่ในโลกความจริงขึ้นมาทุกที อยากจะขอไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เพื่อไปสัมผัสกับความงดงามของอาณาจักรแห่งนี้ แต่ก็คงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน เพราะความจริงคงทำได้แค่เพียงนึกภาพจินตนาการจากซากปรักหักพังที่เห็นอยู่เบื้องหน้า
            


              วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมากมายหลายร้อยวัด แต่ละวัดล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น วัดราชบูรณะ ก็เช่นกัน มีเรื่องน่าสนใจทั้งประวัติการสร้าง กรุสมบัติล้ำค่า หรือแม้กระทั่งความลี้ลับที่มีผู้คนเล่าต่อ ๆ กันมามากมาย แต่เรื่องที่ดูแล้วผู้คนจะสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นข่าวกรุวัดราชบูรณะแตก ที่เคยโด่งดังครึกโครมเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี พ.. ๒๕๐๐ 

               ในตอนนั้นมีโจรลักลอบขโมยขุดเครื่องทองไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องอาถรรพ์นานาที่เกิดขึ้นจากกรุสมบัติแห่งนี้ และหลังจากละครทีวี พิษสวาทออกฉายสู่สายตาคนไทย ก็ยิ่งทำให้วัดราชบูรณะเป็นที่น่าสนใจ ผู้คนหลั่งไหลมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย บ้างก็มาเพื่อเยี่ยมชมความงดงามของวัด บ้างก็อยากมาหาคุณอุบล ตัวละครเอกในละครพิษสวาทที่บางคนเชื่อว่ามีอยู่จริง

            มีป้าคนหนึ่งเดินเข้ามาถามผม น้อง ๆ คุณอุบลอยู่ในเจดีย์ไหน บางคนก็มาถามหาวัดราชบดินทร์อยู่ตรงไหน ผมก็มองหน้าเขานะ อายุปูนนี้แล้วหนังสือประวัติศาสตร์อ่านกันบ้างหรือเปล่า ลุงสมาน คนขับรถตุ๊กตุ๊กเล่าให้ฉันฟัง เล่าไปขำไป ฉันได้ฟังก็อดหัวเราะตามไม่ได้

            ใครที่เดินทางมาเที่ยวที่วัดแห่งนี้ ล้วนอยากจะลองเข้าไปชมกรุสมบัติ ซึ่งเป็นที่เก็บเครื่องทอง พระแสงขรรค์ชัยศรี เครื่องประดับต่าง ๆ มากมาย ทั้งยังมีพระพุทธรูปทองคำอีกหลายองค์ สมบัติเหล่านี้ถูกคนร้ายลักลอบลงไปขุดในกรุพระปรางค์ แล้วขโมยไปจำนวนมหาศาล โดยทางเจ้าหน้าที่สามารถตามกลับคืนมาได้เพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากนั้นเมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะองค์พระปรางค์ ก็ได้พบกับกรุบริวารทั้ง ๕ กรุ ซึ่งภายในแต่ละกรุนั้นพบพระพุทธรูปและพระพิมพ์ต่าง ๆ นับแสนองค์

            คนสมัยก่อนเขาไม่ค่อยสนใจพระพิมพ์กันลูก เขาสนใจเครื่องทองกันมากกว่า พระพิมพ์สมัยนั้นเลยไม่ค่อยมีราคา กรมศิลป์ขุดมาก็เอามาให้เช่าบ้าง เอามาเป็นของสมนาคุณให้คนที่บริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์บ้าง ครูแดง อยุธยา เซียนพระชื่อดังของจังหวัดกล่าวกับฉัน


            ก็จริงอย่างที่ครูแดงพูดกับฉัน คนให้ความสนใจกับเครื่องทองกันมากมายจนมองข้ามความงามทางศิลปะ ทางสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งโบราณวัตถุอย่างพระพิมพ์ ที่ปัจจุบันราคาซื้อขายกันถึงหลักแสน ครูแดง หรือคุณลุงปรีชา โพธิ์หิรัญ มีความเชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ฉันได้ถามคำถามครูแดงเกี่ยวกับพระพิมพ์หลายคำถาม

            ตอนกรมศิลปากรเข้ามาขุด ครูยังเด็กอยู่เลย พ่อตาครูเล่าให้ฟังว่า มีพวกเซียนพระหลายคนมาคอยดูว่าจะเจอพระกรุไหม แต่ทางเจ้าหน้าที่เขากั้นไม่ให้ใครเข้าไปหรอก มันก็มีชาวบ้านเข้าไปช่วยขุดบ้าง พวกเซียนพระก็แอบอยู่ตามข้างต้นไม้มืด ๆ พอชาวบ้านเดินออกมาพวกเซียนพระก็จะวิ่งปรี่เข้าไปหา ไปถามว่ามีพระไหม มีพระไหม ชาวบ้านเขาก็งง ตกใจกันใหญ่ พระอะไรของพวกมึงวะ ครูแดง เล่าไปขำไป ฉันก็ได้แต่คิดตามถึงภาพบรรยากาศที่ครูแดงได้เล่า

            ในวัยเด็กฉันมีโอกาสได้มาที่วัดแห่งนี้หลายต่อหลายครั้ง เพราะคุณพ่อของฉันท่านชื่นชอบพระพิมพ์กรุวัดราชบูรณะเป็นอย่างมาก สมัยนั้นเวลาที่ฉันขึ้นไปด้านบนพระปรางค์ ก็ได้แต่ยืนมองดูผู้คนต่อแถวลงไปในกรุ ตอนนั้นฉันกลัวมากไม่กล้าลงไป กลัวผีเฝ้าสมบัติที่พ่อเล่ากรอกหูให้ฉันฟังอยู่บ่อย ๆ

            พอเริ่มโตขึ้น ฉันยังอยากกลับไปที่วัดแห่งนี้อีกสักครั้ง แต่ยังหาโอกาสไม่ได้สักที ได้แต่อ่านหนังสือ อ่านบทความตามเว็บไซต์ในเรื่องต่าง ๆ ของวัดนี้ อ่านจนมีคำถามมากมายอยู่ในหัว พอครั้งนี้มีโอกาสฉันก็ไม่รีรอที่จะไปยังวัดราชบูรณะ วัดในความทรงจำวัยเด็กของฉัน



            ระหว่างทางไปวัดราชบูรณะ ฉันได้แวะร้านกาแฟบริเวณตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ และได้พบกับคุณน้าวีรวรรณ อรุณเกษม เจ้าของร้าน หลังจากนั่งจิบกาแฟไปสักพัก ฉันจึงลุกขึ้นเดินไปหาคุณน้า เพื่อถามคำถามที่ฉันอยากรู้หลายคำถาม แม้คุณน้าเกิดจะไม่ได้เห็นภาพบรรยากาศในวันขุดกรุ แต่ก็พอได้ยินเรื่องราวในวันนั้นที่บอกเล่ากันมา

            น้าเกิดไม่ทันหรอกลูก แต่ก็พอได้ยินจากผู้ใหญ่มาบ้าง โจรที่เข้าไปขุดกรุ เขาก็มาเล่าให้ฟัง ว่าเพื่อนที่ลงไปเงยหน้าขึ้นมา หน้านี่เป็นสีทองเลย พอเขาตามเพื่อนลงไป เขาบอกทองเต็มไปหมด เพื่อนเขาก็ไปหยิบพระแสงขรรค์มา พอจะชักออก ฟ้าก็ผ่าลงมาข้าง ๆ เจดีย์ คุณน้าวีรวรรณเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ร้ายที่ลักลอบขุดกรุให้ฉันฟัง

ฉันเลยถือโอกาสถามถึงเรื่องลี้ลับที่วัดราชบูรณะ คุณน้าก็เล่าเรื่องที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงาน ยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลกประจำปี พ.. ๒๕๕๖ ให้ฉันได้ฟังอีก ว่า

มีนักท่องเที่ยวมากันสี่คน จะมางานยอยศยิ่งฟ้ากัน พอเขามาถึงร้านน้าประมาณหกโมงเย็นได้ เขาก็ถามใหญ่เลยว่าทำไมการแสดงแสงสีเสียงจัดเร็วจัง ว่าจะมาดูรอบแรก น้าก็ทำท่างง แล้วบอกว่าการแสดงยังไม่เริ่มเลย เขาก็ตอบกลับมาว่าไม่เริ่มได้ไง เขาขับรถผ่านมาเห็นคนใส่ชุดไทย ชุดทหารยืนบนพระปรางค์เต็มไปหมด แล้วเขาก็ชี้นิ้วไปทางวัดราชบูรณะ น้าก็ตกใจนะหนู เพราะวัดที่เขาจัดการแสดง เขาใช้วัดมหาธาตุ จะเห็นคนแสดงที่วัดราชบูรณะได้ไง น้าก็ชวนลูกน้องเดินไปดูที่วัดราชบูรณะกัน มันก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มีแต่ติดไฟไว้นิดหน่อย รถก็จอดเต็มไปหมด คุณน้าเล่าพร้อมส่งแขนที่ขนกำลังลุกพองให้ฉันดู ฉันได้ฟังก็เพิ่มความน่ากลัวในวัยเด็กมากขึ้นไปอีก

 จิตรกรรมฝาผนังภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เมื่อฉันมาถึงวัดราชบูรณะ ก็ได้ตรงขึ้นไปยังท้องพระปรางค์ ณ ตอนนั้นไม่มีใครกล้าลงไปในกรุด้านล่างเลยสักคน ฉันเองก็เช่นกัน แต่ฉันพยายามลบภาพความกลัวในวัยเด็กแล้วก้าวเท้าลงอย่างช้า ๆ เพราะบันไดค่อนข้างชัน เอาเข้าจริงแล้วที่กล้าลงไปก็เพราะมีพี่ ๆ ลงไปด้วยหลายคน ไม่ได้เพราะความกล้าของฉันแต่อย่างใด กรุในพระปรางค์แห่งนี้มีอยู่ ๓ ชั้น แต่พอลงไปถึงยังกรุชั้นสุดท้าย ก็คือชั้นที่ ๓ แม้จะเป็นพื้นที่แคบ ๆ แต่ฉันก็อยากจะเก็บภาพความงดงามของจิตรกรรมบนฝาผนังไว้ให้นานที่สุด

หลายคนให้ความสนใจกับวัดราชบูรณะเพียงเพราะเรื่องราวของสมบัติที่ขุดพบ แต่สำหรับฉันแล้วนั้น ความงดงามของสถาปัตยกรรม เรื่องราวที่คนรุ่นเก่าพยายามถ่ายทอดผ่านสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้เห็น มันเป็นสิ่งที่ล้ำค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ทั้งสิ้น


หลังจากที่ฉันได้ไปชมโบราณสถานที่วัดราชบูรณะแล้ว ฉันก็ได้เดินทางต่อไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และวัดอื่น ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฉันได้ไปเยี่ยมชมเครื่องทอง และพระพุทธรูปต่าง ๆ ที่ได้มาจากโบราณสถานต่าง ๆ ความงดงามนั้นเทียบไม่ได้กับคำบอกเล่าที่ได้ยินมา เห็นแล้วก็นึกดีใจที่สมบัติเหล่านี้ยังคงอยู่ให้เราได้เห็นเป็นสมบัติของชาติ ไม่ได้ตกเป็นสมบัติของคนใดคนหนึ่ง

            ฉันได้ถามพี่ผึ้ง ศศิธร โตวินัส ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถึงเรื่องราวที่ได้ยินมาเกี่ยวกับการจับกุมผู้ร้าย โดยยึดของกลางมาได้ขณะคนร้ายกำลังเอามงกุฎใส่หัว มือถือพระขรรค์แต่งตัวเป็นกษัตริย์ร้องลิเกรำให้คนดูอยู่ที่ตลาดหัวรอ พี่ผึ้งได้ยินแล้วก็ขำ

            เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาเล่า ๆ กันมา แต่ไม่ใช่เรื่องจริงเลย สาเหตุของการจับกุมได้นั้น ก็เพราะมีพลตำรวจนายหนึ่งที่เป็นหนึ่งในคนร้ายที่ลักลอบขุดกรุ กินเหล้าเมาแอ๋ขึ้นมาพบผู้กำกับบนโรงพัก ซึ่งขณะนั้นก็คือ พันตำรวจโท วุฒิ สมุทรประภูติ แล้วพูดจาทำนองว่า วันนี้รวยมา ได้สมบัติมาเยอะ ผู้กำกับสนใจจะแบ่งไปบ้างไหม พอผู้กำกับสอบถามก็ได้รับรู้ความจริง และรีบดำเนินการจับกุมตำรวจนายนี้ พร้อมคนร้ายคนอื่น ๆ ได้ทัน พี่ผึ้งเล่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นให้ฉันฟัง

หลังจากที่ฉันได้ฟังเรื่องราวจากพี่ผึ้งแล้ว สิ่งเดียวที่คิดอยู่ในใจคืออยากจะขอบคุณผู้กำกับท่านนี้ ที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิด เพราะถ้าวันนั้นท่านเกิดความโลภอยากได้ในสิ่งที่ไม่ใช่ของ ๆ ตน วันนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นสมบัติของชาติที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็เป็นได้


โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นมีอยู่มากมายจริง ๆ บางแห่งถูกปล่อยร้าง บางแห่งถูกบูรณะดูแล บางแห่งมีการขุดหาสมบัติ บางแห่งยังคงมีเรื่องราวอาถรรพ์ อย่าง วัดกุฎีดาว สถานที่สุดท้ายที่อยากจะเชิญชวนให้ผู้คนได้ไปสัมผัสกับโบราณสถานที่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ชาวบ้านในพื้นที่บางคนยังไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวัดแห่งนี้สักเท่าไหร่ ภายในวัดจะได้พบกับสถาปัตยกรรมที่งดงามในสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังมีเจดีย์ประธานทรงระฆังย่อมุมไม้ยี่สิบ ส่วนยอดของเจดีย์หักลงมาอยู่บริเวณข้าง ๆ ถึงแม้จะเสื่อมโทรมตามธรรมชาติ แต่ก็มีความงดงามที่แตกต่างไม่เหมือนที่ใด


วัดกุฎีดาวนั้น บางคนอาจจะได้ยินชื่อวัดแห่งนี้มาจากเรื่องเล่าของพระองค์เจ้าพีระพงษ์ภานุเดช หรือเรียกพระนามโดยทั่วไปว่า พระองค์เจ้าพีระฯผู้ไม่เชื่อเลยว่าภูตผีปีศาจมีอยู่จริง พระองค์ได้ลายแทงขุมสมบัติ แล้วทำการตกลงกับทางกรมศิลปากรว่าจะแบ่งให้เป็นสมบัติชาติ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นของพระองค์ หลังจากทางกรมศิลป์ตกลง พระองค์ก็ลงมือขุดโดยมีเครื่อง ไมน์ ดีเทคเตอร์ เป็นตัวช่วยสำคัญในการค้นหา ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทำพิธีบรวงสรวงเจ้าที่ตามที่ผู้รู้แนะนำ จึงทำให้ต้องเผชิญกับวิญญาณปู่โสมเฝ้าทรัพย์ตามเรื่องเล่าที่พระองค์ได้เขียนไว้

ทั้งที่เครื่องมือวิทยาศาสตร์จะบอกว่าใต้แผ่นดินมีสมบัติอยู่ แม้จะพยายามขุดลึกลงไปเท่าใด พระองค์ก็ขุดไม่พบ แต่กลับได้ยินเสียงเหมือนมีอะไรเคลื่อนอยู่ใต้ดิน ซึ่งสิ่งนี้ใครต่อใครก็เชื่อว่าเป็นอำนาจของปู่โสม หรือบางตำนานกล่าวว่าคือ นายนาก ทหารที่โดนตัดคอ ชาวบ้านที่ผ่านไปมาในละแวกนี้ บางคนก็เคยพบเจอกับวิญญาณทหารคอขาดผู้นี้เดินวนเวียนอยู่ในเขตวัด จนต้องมีการสร้างศาลขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่กรมศิลปากรยอมให้มีการสร้างศาลขึ้นในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้


ไม่ว่าเรื่องราวอาถรรพ์ที่ได้ยินมาจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ฉันก็คิดว่าในมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี บางทีอาถรรพ์ที่ว่าอาจเป็นเพียงกุศโลบายที่จะช่วยรักษาสมบัติของชาติไว้ให้คงอยู่ ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาและป้องกันไม่ให้ถูกทำลายลงด้วยความโลภไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์

มุมหนึ่งฉันนึกอยากให้มีคนอย่างลุงสมาน ครูแดง น้าวีรวรรณ หรือพี่ผึ้ง เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวภาพความทรงจำเหล่านี้สืบต่อไป เหมือนกับนวนิยายเรื่องพิษสวาทที่บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเพียงนิยาย เป็นเรื่องแต่งประโลมโลก แต่ภายในเรื่องก็มีข้อคิดดี ๆ มากมาย ที่สอนให้เรารู้จักหวงแหนสมบัติของชาติ    
                                       

ไม่ว่าภายใต้พื้นแผ่นดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะมีสมบัติอยู่อีกมากมายเพียงใด ฉันก็ได้แต่หวังให้สมบัติอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น อยู่เป็นตำนานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา หรือหากมีการขุดพบ ก็ภาวนาให้อยู่ในสถานที่ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมต่อไป 



           



Thursday, October 27, 2016

ตลาดอยุธยา...ต้องมา “หัวรอ”


วัลฤดี เกิดนอก...เรื่อง เสกสรร วสุวัต... ภาพ
ผลงานรางวัลเนื้อหาสารคดีดีเด่น และผลงานรางวัลภาพถ่ายสารคดีดีเด่น 
จากโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท. รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙ 

            ตอนเป็นเด็กแม่มักจะชวนให้ไปตลาดด้วยให้ไปช่วยถือของ  ไอ้ฉันเองก็ชอบไป เพราะจะได้ขนมและของกินเป็นสิ่งตอบแทน แม่ให้เลือกขนมได้ตามใจชอบ ฉันไปตลาดกับแม่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้สึกชอบเดินตลาดโดยไม่รู้ตัว ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ได้รู้จักผักรู้จักปลาและนานาสรรพสิ่ง มีของอร่อยให้ลองชิม เหมือนที่คนโบราณเคยพูดไว้ว่า “ถ้าอยากฉลาด ให้ไปตลาด” ตลาดเป็นศูนย์รวมทุกเรื่องที่อยากรู้ นอกจากผักปลาหน้าตาแปลก ๆ แล้ว ตลาดยังเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนนั้นๆ    ได้เป็นอย่างดี สีหน้าและรอยยิ้มของผู้คน การทักทายอัธยาศัยไมตรีที่ผู้คนมีต่อกัน รวมทั้งเรื่องเม้าท์มอยหอยสังข์ หาฟังได้สด ๆ ร้อน ๆ จากสำนักตลาดสด ทำให้ฉันประทับใจการไปตลาดและชอบบรรยากาศของตลาดสด



               จนถึงทุกวันนี้ในฐานะแม่บ้าน ฉันก็ยังต้องไปตลาดเป็นประจำตามหน้าที่ และทุกครั้งที่ได้เดินทางไปต่างจังหวัดต่างบ้านต่างเมือง ฉันจะต้องไม่พลาดการไปตลาดสด ตลาดเช้า ตลาดเย็น รวมถึงตลาดนัด ของแต่ละท้องถิ่น เพราะอยากรู้ว่าผู้คนที่นั่นเขากินอะไรกัน อยู่กันอย่างไร แต่งตัวแบบไหน สำหรับฉัน     ฉันไปหาคำตอบได้จากใน “ตลาด”



            และเที่ยวนี้ฉันมาเยือนอยุธยา มีตลาดอะไรบ้างนะที่น่าสนใจและชวนให้ฉันอยากไป สำหรับเมืองพระนครศรีอยุธยาที่เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและเป็นจุดศูนย์กลางของการสัญจรไปมาจากทั่วสารทิศ เพราะเป็นเกาะตั้งอยู่ตรงกลางที่มีแม่น้ำสามสายไหลผ่าน อยุธยาจึงเหมาะที่จะทำการค้าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งในสมัยก่อนเราให้ความสำคัญกับการเดินทางทางน้ำเป็นหลัก เราใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง การที่อยุธยามีแม่น้ำไหลผ่านถึง ๓ สาย จึงเปรียบเสมือนการมีถนนซูเปอร์ไฮเวย์มุ่งตรงมายังเมืองท่าสำคัญแห่งนี้ และสถานที่สำคัญตั้งแต่เมื่อครั้งอยุธยารุ่งเรืองและยังคงอยู่ให้เห็นกันจนถึงทุกวันนี้ คือ หัวรอ 



            หัวรอ เป็นท่าเทียบเรือที่เปิดใช้มายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ท่าเทียบเรือหัวรอแห่งนี้ ท่านขุนหัวรอวราลักษณ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ในสมัยนั้นท่าเทียบเรือแห่งนี้ได้เปิดให้ใช้กันฟรี ๆ ใครมีสินค้าใดก็นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ตามใจชอบ โดยมิได้มีการเรียกเก็บค่าเทียบเรือ ค่าจอดเรือ หรือภาษีใด ๆ



               คุณลุงเฉลิมโชค ตรีโภคา นายท่าหัวรอคนปัจจุบันซึ่งเป็นทายาทผู้ที่ได้รับเลือกให้สืบทอดกิจการท่าเรือหัวรอเป็นคนเล่าให้ฟังว่า “เพิ่งจะมีการเรียกเก็บเบี้ยค่าจอดเรือในสมัยของคุณยายผมนี่เอง  เมื่อก่อนให้ใช้กันฟรีๆ ไม่มีเรียกเก็บค่าอะไรใดๆทั้งนั้น  โอ๊ย! คึกคัก ขวักไขว่กันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ค่ำยันรุ่ง มีเรือขนของมาขายตลอดทั้งวัน คนซื้อก็ซื้อกันยังกับห้างสรรพสินค้า ท่าหัวรอนี่นะ สมัยก่อนมันก็เป็นตลาดน้ำนี่แหละ มีเรือทุกชนิด มีทั้งเรือเกียง เรือแจว  ใส่ของมาขายกันเต็มลำ บางลำมาจากบางบาล บางลำมาเสนา มาจากทั่วทุกสารทิศ มาชุมนุมกันที่นี่แหละ ที่นี่มีท่าเรืออยู่ ๒ แห่ง แยกประเภทกัน เรือขนสินค้ามาขึ้นที่ท่าหัวรอ..นี่ แต่ถ้าเป็นผักเป็นปลาไปขึ้นที่ท่าศาลเจ้า..นู่น แต่ต่อมายุคสมัยมันเปลี่ยนไป เขาก็ขนของขึ้นไปขายกันบนฝั่ง ที่เป็น “ตลาดหัวรอ” ที่เรารู้จักกันนั่นน่ะ เรือจะมาเทียบท่าเอาของขึ้นช่วงเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. กว่าตลาดจะวายก็บ่ายสองโมง นั่นแหละ”



จน ณ วันนี้ ก็ยังมีผู้คนที่ยังคงใช้ประโยชน์จากท่าเรือหัวรอแห่งนี้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะถึงอย่างไรแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ผู้คนที่นี่ยังคงยึดวิถีการใช้สายน้ำในการสัญจรไปมาให้เราได้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน วันนี้พอดีฉันได้มาเจอคุณลุงพ่อค้าขายผัดไทยอยู่ที่วัดท่าการ้อง คุณลุงมาซื้อของที่ตลาดหัวรอและกำลังลำเลียงขนของลงเรืออยู่พอดี คุณลุงบอกว่า “ใครจะใช้รถก็ใช้ไป แต่สำหรับผม เรือสำคัญที่สุด ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้เรืออยู่เป็นประจำ เป็นคนอยุธยาแท้ ๆ ต้องขับเรือเป็น ดูอย่างเมื่อปี ๒๕๕๔ สิ แหม! ถ้าไม่มีเรือล่ะแย่เลย ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่ ใครจะไปไหนก็ไปไม่ได้ แต่ผมสบาย เพราะผมใช้เรือ” พูดจบลุงก็ขนของเสร็จ สตาร์ทเครื่องเรือออกตัวด้วยความแรง โชว์ฝีมือการบังคับเรือหายวับไปกับตา



            ฉันเดินเล่นเรื่อย ๆ มา เพื่อมาดู “ท่าศาลเจ้า” ท่าเทียบเรือที่ได้รับการบอกเล่าจากคุณลุงทั้งสอง ท่าเรือก็อยู่ใกล้ ๆ กันนั่นแหละ แต่ที่ท่าศาลเจ้าแห่งนี้มีความพิเศษกว่าก็คืออยู่ตรงศาลเจ้าแม่ต้นจันทน์ ซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดไม่ใหญ่โตมาก แต่แลดูขลังและฉันสัมผัสได้ถึงพลังแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษา ณ ที่แห่งนี้ ศาลเจ้าแม่ต้นจันเป็นที่เคารพบูชาของคนในชุมชนหัวรอและชาวบ้านร้านตลาดที่มาจับจ่ายซื้อขายที่ตลาดหัวรอแห่งนี้มาช้านาน



ไหว้ศาลขอพรแล้ว ฉันก็เดินเข้ามาในตลาด บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา ผู้คนบางตา ร้านค้าบางร้านเพิ่งจะจัดเตรียมตั้งร้านนำของออกมาวางขาย แต่แม่ค้าแผงขายปลานี่สิคึกคักกว่าใครเขา ตะโกนคุยกันไปมาเสียงดังลั่นตลาดจนฉันต้องตามไปที่ต้นเสียง โอ้โห! โอ้แม่เจ้า! ปลาอะไรกันนี่ ทำไมตัวมันมหึมาเต็มกะละมังขนาดนี้ มีสารพัดปลา ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ แล้วไอ้เสียงที่คุยกันน่ะ บรรดาแม่ค้าแผงปลาเขาถามไถ่กันว่าใครได้ปลาอะไรมาบ้าง ปากก็ถามก็ตอบกันไป แต่มือก็ไม่อยู่นิ่ง ๆ ซอยกันเป็นระวิงเชียว พี่เขากำลังทำปลา ขอดเกล็ด กรีดพุงปลา ควักขี้ออก แล้วบั้งเป็นริ้ว ๆ เตรียมไว้ขายให้ลูกค้า เป็นบริการเสริมที่แม่ค้ายินดีทำด้วยความยิ้มแย้ม ทำไปยิ้มไป คุยกันไป




ฉันเข้าไปทักทายและถามไถ่ ว่านี่ปลาอะไรคะพี่ แม่ค้าแย่งกันตอบ บอกชื่อมาสารพัดปลาจนฉันจำไม่ได้สักกะชื่อเดียว แต่ฉันชอบนะ นี่คือสีสันบรรยากาศในตลาดสด “ตลาดหัวรอ”ที่มองมาจากภายนอกดูเหมือนจะเงียบเหงาเหมือนคนที่นั่งรอใครแบบใจจดใจจ่อ แต่พอได้เข้ามาข้างใน กลับมีแต่ความสดใสเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงทักทายกัน ฉันมองไปตรงไหนก็จะได้รับการ welcome ด้วยรอยยิ้มส่งกลับมา



ดูเหมือนพวกพ่อค้าแม่ค้าจะรู้ว่าฉันเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาซื้อของ ทุกสายตาพากันจ้องมองมาทำให้ฉันรู้สึกเขินอาย จำเป็นต้องหาที่กำบังกายสักแห่ง แว้บหายเข้าไปในร้านขายถ้วยชามรามไหนี่ล่ะวะกู โอ้โฮ! พระเจ้าชี้ทางชัด ๆ ใครอะไรดลใจให้ฉันเดินเข้ามาในร้านนี้ สวรรค์ของคนรักษ์แอนทีคอย่างฉัน เหมือนตกอยู่ในวังวน ภาชนะหม้อไหมีทั้งของเก่าและทำขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบ หม้อเคลือบ ปิ่นโตเคลือบ ถ้วยแก้วเจียระไน ชามลายโบราณ อยากได๊ อยากได้!! มันน่าซื้อจนแทบจะอดใจไม่ไหว ฉันกำลังจะคลั่งตาย ต้องหาอะไรมาดับกระหายความอยากได้เสียก่อน มองหาจนได้เจอ “ร้านน้ำชา”



ฉันรีบเดินตรงดิ่งมาที่ร้านน้ำชา สั่งชาร้อนมาระงับสติอารมณ์ ๑ แก้ว อารมณ์เริ่มผ่อนคลายความอยากได้เริ่มน้อยลง เหลือบมองไปโต๊ะข้าง ๆ มีคุณลุงสองคนนั่งคุยกันและเพื่อนร่วมวงสนทนาอีกคนคือพ่อค้าร้านน้ำชานี่แหละ ที่นี่คงจะเป็นสภากาแฟ ที่ที่คนจะมารวมตัวและแลกเปลี่ยนพุดคุยกันทุกเรื่องราว ซึ่งทุกวันนี้หาดูได้ยากแต่ที่นี่ยังมีให้เห็น “สภากาแฟที่ตลาดหัวรอ”



คุณลุงพงศักดิ์ ป้อมแก้ว หรือ “จ่าเปี๊ยก” ที่ชาวบ้านเขาเรียกกัน เล่าให้ฟังว่า “ผมมาตลาดหัวรอนี่ทุกวันตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม ๆ จนถึงทุกวันนี้เกษียณแล้วก็มาทุกวัน มานั่งกินกาแฟแก้วนึง คุยกับเพื่อนฝูงพอหอมปากหอมคอแล้วก็กลับบ้านไปนอนต่อ  โอ้โห! เมื่อก่อนคึกคักมาก คนต่างอำเภอต้องมาซื้อของที่นี่ ผักของชาวบ้านก็ลงเรือหางยาวมาขายที่นี่ เรือหาปลาก็มาขึ้นปลาที่นี่ ปลากระโห้..นะ ตัวใหญ่ ๆ..นะ มีเกล็ด..นะ ตัวมันใหญ่ ๆ เหมือนคนอ้วนน่ะ ที่เขาด่ากันว่า ไอ้หน้าปลากระโห้น่ะ เต็ม มีเยอะ มาขายกันถูก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี หายาก ตลาดก็เงียบ คนก็น้อยลง แต่ยังไงพวกผมก็ต้องมาทุกวัน” มันเป็นความผูกพันที่ขาดไม่ได้ต้องอยู่คู่กันไปจนวันตาย  นั่งคุยกับลุงสักพัก ฉันก็ขอตัวเดินดูให้ทั่วตลาด



เสน่ห์ของที่นี่ไม่ใช่มีเพียงแค่สินค้าผักปลาเท่านั้น หากแต่ยังมีความน่ารักของผู้คนชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าลุงป้าน้าอาน่ารักเหลือเกินสุดจะบรรยาย ถูกใจสตรีหนีเที่ยวอย่างฉัน เที่ยวแล้วต้องรู้ต้องเข้าใจ ในความบันเทิงนั้นควรต้องมีคุณค่าด้วย

ไปตลาดสนุกจริง ๆ ขอบอกว่า...อย่าพลาด! อยากหาคำตอบแบบฉลาด ๆ ไปดูได้ที่ตลาด

ฉันเดินออกมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและอิ่มเอมใจเปี่ยมไปด้วยความสุขที่ได้รับจากตลาดอย่างคาดไม่ถึง หากใครอยากได้รับความสุขแบบฉันนี้ ขอแนะนำให้มาพระนครศรีอยุธยาและห้ามพลาด “ตลาดหัวรอ” นะคะ


เกาะทองทะเลใต้...สานสายใย (สัมพันธ์) แห่งศรัทธา


วรรณี ตั้งกิจสงวน...เรื่อง วชิรากรณ์ สมบูรณ์...ภาพ 
ผลงานสารคดีรางวัลชมเชยจากโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสาร อ.ส.ท.  รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙
            
           “ศาลนักบุญมีมานานแล้ว ตั้งแต่หลังคาเป็นสังกะสี กรมศิลปากรมาบูรณะและย้ายไปอยู่ด้านหน้าอาคาร ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มากนะ ลุงได้เมียก็ที่นี่ ได้ลูกสองคนก็ที่นี่”
            
           ลุงเสนอ ไกลทองสุข อายุ ๖๗ ปี รับหน้าที่ดูแลหมู่บ้านโปรตุเกสให้กับกรมศิลปากร เล่าให้ฟังถึงความศรัทธาต่อศาลนักบุญ ก่อนกรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗

            ศาลนักบุญที่มีมาแต่เดิม กรมศิลปากรสร้างศาลใหม่ด้วยไม้รูปทรงไทยโบราณ หลังคาจั่วไม้กางเขน และย้ายที่ตั้งศาลมาอยู่ด้านหน้าอาคาร


            พื้นที่ละแวกนี้มีคนนับถือสามศาสนาอยู่ด้วยกัน บ้านประมาณ ๗-๘ หลังตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกบ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ด้านเหนือหลังกำแพงหมู่บ้านโปรตุเกส ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ด้านใต้

            ลุงเสนอยิ้มอย่างสุขใจ ยามบอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างของผู้คนรอบ ๆ บ้านที่ลุงเกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส



๑.

            หมู่บ้านโปรตุเกสเคยเป็นย่าน Downtown ของกรุงศรีอยุธยา

            เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนาที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ด้านตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีหมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม หมู่บ้านชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้และตะวันตกฝั่งเดียวกัน ภาพผู้คนสัญจรทางน้ำทางบกขวักไขว่ เรือเมล์ เรือสินค้าเต็มคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาบ่งบอกถึงย่านการค้า

            แต่ในวันนี้เหลือเพียงซากโบราณสถานและคุ้งน้ำอันเงียบเหงา

            ปัจจุบันหมู่บ้านโปรตุเกสไม่มีวัดคาทอลิกเหลืออยู่ ไม่เว้นแม้แต่วัดนักบุญยอแซฟของชาวฝรั่งเศสถูกทำลายยับเยินไปพร้อมกับพระราชวังหลวง วัดพุทธในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒



            ต่อมาในภายหลังพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเอลกัวซ์ เริ่มต้นฟื้นฟูวัดคริสต์ด้วยการซื้อที่ดินวัดนักบุญยอแซฟกลับคืนมา และรวบรวมชาวญวนคริสตังให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน สร้างวัดนักบุญยอแซฟขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมในปีพ.ศ. ๒๓๗๘ เพื่อเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนพิธี

            ความเสื่อมโทรมตามกาลเวลาย่อมเกิดขึ้น จึงมีการบูรณะซ่อมแซมวัดเรื่อยมา แต่ยังคงรักษาความสง่าอลังการของสถาปัตยกรรม ตลอดจนลวดลายอันงดงามของกระจกสีให้ปรากฏสีสันและเรื่องราวอยู่มาจนทุกวันนี้


๒.

            ไม่ได้แบ่งว่าใครนับถือศาสนาอะไร เป็นเพื่อนกันเชิญเขาก็มา

          หากไม่รู้จักถ้าไม่เชิญ ไม่มีใครกล้ามา แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน

            บ้านพี่รฐาอยู่ปากทางเข้าวัดนักบุญยอแซฟ กำลังจัดงานแต่งงาน แขกผู้ชายส่วนใหญ่สวมหมวกตะกียะห์ ผู้หญิงสวมฮิญาบ บ่งบอกว่าเป็นงานแต่งของชาวมุสลิม ถึงเวลาฤกษ์งามยามดีเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมารับเจ้าสาว ซึ่งก็คือ พี่รฐา


            เด็ก ๆ และญาติฝ่ายเจ้าสาวสนุกกับการกั้นประตูเงินประตูทอง หากเจ้าบ่าวต้องการเข้าบ้านมารับเจ้าสาวต้องควักซองให้ก่อนถึงจะเข้าได้ คล้ายธรรมเนียมไทยแต่โบราณ

            พี่รฐา โรจนสิทธิ์ อายุ ๔๓ ปี ยังเล่าเรื่องราวรอบ ๆ บ้านที่อยู่ใกล้ทั้งวัดพุทธ วัดคริสต์ และมัสยิด เกี่ยวกับการประกอบศาสนกิจว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่เกี่ยวข้องกัน วัดไทยสวดมนต์ทำวัตร วัดคริสต์ร้องเพลงสรรเสริญพระเยซู หรือแม้แต่มัสยิดละหมาด ทุกวัดและมัสยิดสวดออกลำโพงเสียงดังได้เช่นเดียวกัน ไม่มีใครต่อว่า อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข


๓.
            ทำไมต้องกุฎีช่อฟ้า?

            ครูอาซัน ตะเคียนเก้า เล่าว่า บ้านเรือนของชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้ของหมู่บ้านโปรตุเกส เริ่มสร้างมัสยิดด้วยไม้ รูปทรงไม่มีลักษณะเด่นเป็นสถาปัตยกรรมอิสลาม เรียกกันว่า “สุเหร่าต้นโพธิ์” และยังไม่มีชื่อเรียกมัสยิดอย่างเป็นทางการ

            ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสทางชลมารคเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงประทับในอาคารมัสยิด ท่านอิหม่ามโต๊ะกีแย้ม ตะเคียนคามขอพระราชทานชื่อมัสยิด พระองค์ทรงทอดพระเนตรรูปทรงหลังคาจั่วมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ จึงพระราชทานให้ชื่อว่า “มัสยิดกุฎีช่อฟ้า” พร้อมพระราชทาน “ตะเกียงช่อ”


            มัสยิดเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน ให้กับเด็ก ๆ รุ่นเล็กสอนให้ท่องจำก่อนยังไม่ต้องรู้ความหมาย โตหน่อยค่อยให้เรียนรู้ความหมาย สอนเฉพาะวันเสาร์ ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ไปโรงเรียนตามปกติ

            ครูฮาซันเล่าให้ฟังต่อว่า ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ละแวกคลองตะเคียนสืบเชื้อสายมาจากคนมลายู จึงเป็นเหตุให้เรียกคนมุสลิมที่นี่ว่าแขกตานี อาคารมัสยิดกุฎีช่อฟ้ามีการบูรณะเปลี่ยนแปลงอาคารไม้หลังเดิม วางรากฐานสร้างอาคารใหม่เปิดเป็นศูนย์อบรมจริยธรรม บรรยายศาสนธรรมให้กับชาวมุสลิม และเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน


๔.

                ห่างจากุฎีช่อฟ้าอีกอึดใจ วัดพุทไธศวรรย์

            ล่องเรือขึ้นเหนือจากหมู่บ้านโปรตุเกสตามคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลกันนัก จะพบวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า บริเวณวัดคือ พระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนยกเมืองย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสร้างพระราชวังที่บึงพระรามในปัจจุบัน ภายหลังครองราชย์สมบัติได้ ๓ ปี จึงสถาปนาพระอารามขึ้นเป็นอนุสรณ์ ถือเป็นวัดสร้างขึ้นในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แต่สิ่งก่อสร้างภายในวัดยังเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ เหตุเพราะวัดตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ทำให้ได้รับความเสียหายน้อยกว่าวัดที่อยู่ภายในเกาะเมือง ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำวัดและประกอบศาสนกิจอยู่เป็นปกติ


         อาคารสองชั้นทรงเรือสำเภา สร้างถัดจากพระอุโบสถไม่ปรากฏชื่อ แต่นักวิชาการในสมัยหลังเรียกว่า “ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรียงรายรอบทุกด้าน เป็นเรื่องไตรภูมิ ชาดก รวมถึงคนต่างชาติ แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
            การเป็นเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยาทำให้มีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน

๕.

            “พวกแกซื้อหมูให้ไม่ได้ พายายไปตลาดหน่อยก็แล้วกัน”

          ยายสาลี่ มากผาสุข อายุ ๗๒ ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมปากคลองตะเคียนก่อนไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา บอกเล่าให้ฟังถึงน้ำใจงามของเพื่อนบ้านมุสลิม

            ยายสาลี่เป็นคนพุทธบ้านเดียวในชุมชนมุสลิมแห่งนี้ เดิมทียายไม่ได้อาศัยอยู่ในละแวกนี้ เพิ่งย้ายมาตอนอายุ ๑๙ ปี ที่อยู่เดิมแล้งมากน้ำท่าไม่พอใช้ จึงตัดสินใจย้ายครัวมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนบ้านดูแลและช่วยเหลือกันดี เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในความแตกต่างของศาสนา

            ลูกหลานมุสลิมแถวนี้ยายก็เลี้ยงมาแต่น้อย อยู่มาอย่างนี้นานแล้ว


สายใยสัมพันธ์

            “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”

            เป็นชื่อพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งขึ้นเมื่อตอนสร้างเมือง เกาะเมืองอยุธยาตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่า ส่งผลให้ผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนามาอยู่รวมกัน เมื่อมีต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอยุธยา

            กษัตริย์ไทยแต่โบราณมามิได้นิ่งเฉยไม่ไยดีกับความเป็นอยู่ ทรงพระราชทานที่ดินรวมทั้งอนุญาตให้สร้างหมู่บ้านโปรตุเกส สร้างชุมชนมุสลิม วัดนักบุญยอแซฟ แม้กระทั่งชื่อมัสยิดยังทรงพระราชทานให้ แม้เปลี่ยนรูปการปกครองไปแล้วแต่ยังมีหน่วยงานราชการ เช่น กรมศิลปากรทำหน้าที่ดูแลโบราณสถานต่าง ๆ ในอยุธยาโดยไม่เลือกศาสนาแต่อย่างใด
 
            ไม่ว่าบรรพบุรุษแต่เดิมของลุงเสนอ ครูอาซัน พี่รฐา ยายสาลี่ จะเป็นใครมาจากไหน หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ไม่ได้ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันแปลกแยกแตกต่าง หากแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

            แม้วันนี้หมู่บ้านโปรตุเกสอาจเงียบเหงา ไม่หลงเหลือความเป็นย่าน Downtown แล้ว แต่สีสันวิถีชีวิตของผู้คนไม่เคยจางหายไป ผู้คนหลายเชื้อชาติหลายศาสนายังคงอยู่ร่วมกันด้วยสายใยสัมพันธ์แห่งความศรัทธาในเมืองท่าเมืองค้าขายที่มั่งคั่งคึกคักมาก จนชาวต่างชาติให้สมญานามว่า “เกาะทองทะเลใต้” วันเวลาแปรเปลี่ยนไป แต่สายใยของคนสามศาสนา ยังถักทอสายใยเหนียวแน่นไม่มีวันเปลี่ยนแปร


เอกสารอ้างอิง
ไกรฤกษ์ นานา.๕๐๐ปีสายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส.กรุงเทพฯ : มติชน.,๒๕๕๓
ชมรมมุสลิมมัสยิดกุฎีช่อฟ้า.หนังสืออนุสรณ์งาน “๔๐ ปี ชมช.”.
วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา.บ้านแรก วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ปฐมบทแห่งคาทอลิกไทย,เมษายน ๒๕๕๙.
http://siamportuguesestudy.blogsport.com/2010/06/blog-post_12.html
ขอขอบคุณ

ลุงเสนอ ไกลทองสุข, พี่รฐา โรจนสิทธิ์, ครูฮาซัน ตะเคียนเก้า, ยายสาลี่ มากผาสุข