Thursday, October 27, 2016

เกาะทองทะเลใต้...สานสายใย (สัมพันธ์) แห่งศรัทธา


วรรณี ตั้งกิจสงวน...เรื่อง วชิรากรณ์ สมบูรณ์...ภาพ 
ผลงานสารคดีรางวัลชมเชยจากโครงการอบรมนักเขียนและช่างภาพสารคดีท่องเที่ยวกับอนุสาร อ.ส.ท.  รุ่นที่ ๖ ประจำปี ๒๕๕๙
            
           “ศาลนักบุญมีมานานแล้ว ตั้งแต่หลังคาเป็นสังกะสี กรมศิลปากรมาบูรณะและย้ายไปอยู่ด้านหน้าอาคาร ที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มากนะ ลุงได้เมียก็ที่นี่ ได้ลูกสองคนก็ที่นี่”
            
           ลุงเสนอ ไกลทองสุข อายุ ๖๗ ปี รับหน้าที่ดูแลหมู่บ้านโปรตุเกสให้กับกรมศิลปากร เล่าให้ฟังถึงความศรัทธาต่อศาลนักบุญ ก่อนกรมศิลปากรขุดแต่งและบูรณะเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗

            ศาลนักบุญที่มีมาแต่เดิม กรมศิลปากรสร้างศาลใหม่ด้วยไม้รูปทรงไทยโบราณ หลังคาจั่วไม้กางเขน และย้ายที่ตั้งศาลมาอยู่ด้านหน้าอาคาร


            พื้นที่ละแวกนี้มีคนนับถือสามศาสนาอยู่ด้วยกัน บ้านประมาณ ๗-๘ หลังตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกบ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวจีนนับถือศาสนาพุทธอาศัยอยู่ด้านเหนือหลังกำแพงหมู่บ้านโปรตุเกส ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ด้านใต้

            ลุงเสนอยิ้มอย่างสุขใจ ยามบอกเล่าเรื่องราวความแตกต่างของผู้คนรอบ ๆ บ้านที่ลุงเกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส



๑.

            หมู่บ้านโปรตุเกสเคยเป็นย่าน Downtown ของกรุงศรีอยุธยา

            เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนาที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ด้านตะวันออกติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีหมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม หมู่บ้านชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้และตะวันตกฝั่งเดียวกัน ภาพผู้คนสัญจรทางน้ำทางบกขวักไขว่ เรือเมล์ เรือสินค้าเต็มคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาบ่งบอกถึงย่านการค้า

            แต่ในวันนี้เหลือเพียงซากโบราณสถานและคุ้งน้ำอันเงียบเหงา

            ปัจจุบันหมู่บ้านโปรตุเกสไม่มีวัดคาทอลิกเหลืออยู่ ไม่เว้นแม้แต่วัดนักบุญยอแซฟของชาวฝรั่งเศสถูกทำลายยับเยินไปพร้อมกับพระราชวังหลวง วัดพุทธในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒



            ต่อมาในภายหลังพระสังฆราชฌอง บัปติสต์ ปัลเอลกัวซ์ เริ่มต้นฟื้นฟูวัดคริสต์ด้วยการซื้อที่ดินวัดนักบุญยอแซฟกลับคืนมา และรวบรวมชาวญวนคริสตังให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน สร้างวัดนักบุญยอแซฟขึ้นใหม่บนรากฐานเดิมในปีพ.ศ. ๒๓๗๘ เพื่อเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนพิธี

            ความเสื่อมโทรมตามกาลเวลาย่อมเกิดขึ้น จึงมีการบูรณะซ่อมแซมวัดเรื่อยมา แต่ยังคงรักษาความสง่าอลังการของสถาปัตยกรรม ตลอดจนลวดลายอันงดงามของกระจกสีให้ปรากฏสีสันและเรื่องราวอยู่มาจนทุกวันนี้


๒.

            ไม่ได้แบ่งว่าใครนับถือศาสนาอะไร เป็นเพื่อนกันเชิญเขาก็มา

          หากไม่รู้จักถ้าไม่เชิญ ไม่มีใครกล้ามา แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน

            บ้านพี่รฐาอยู่ปากทางเข้าวัดนักบุญยอแซฟ กำลังจัดงานแต่งงาน แขกผู้ชายส่วนใหญ่สวมหมวกตะกียะห์ ผู้หญิงสวมฮิญาบ บ่งบอกว่าเป็นงานแต่งของชาวมุสลิม ถึงเวลาฤกษ์งามยามดีเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมารับเจ้าสาว ซึ่งก็คือ พี่รฐา


            เด็ก ๆ และญาติฝ่ายเจ้าสาวสนุกกับการกั้นประตูเงินประตูทอง หากเจ้าบ่าวต้องการเข้าบ้านมารับเจ้าสาวต้องควักซองให้ก่อนถึงจะเข้าได้ คล้ายธรรมเนียมไทยแต่โบราณ

            พี่รฐา โรจนสิทธิ์ อายุ ๔๓ ปี ยังเล่าเรื่องราวรอบ ๆ บ้านที่อยู่ใกล้ทั้งวัดพุทธ วัดคริสต์ และมัสยิด เกี่ยวกับการประกอบศาสนกิจว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไม่เกี่ยวข้องกัน วัดไทยสวดมนต์ทำวัตร วัดคริสต์ร้องเพลงสรรเสริญพระเยซู หรือแม้แต่มัสยิดละหมาด ทุกวัดและมัสยิดสวดออกลำโพงเสียงดังได้เช่นเดียวกัน ไม่มีใครต่อว่า อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข


๓.
            ทำไมต้องกุฎีช่อฟ้า?

            ครูอาซัน ตะเคียนเก้า เล่าว่า บ้านเรือนของชาวมุสลิมอยู่ด้านใต้ของหมู่บ้านโปรตุเกส เริ่มสร้างมัสยิดด้วยไม้ รูปทรงไม่มีลักษณะเด่นเป็นสถาปัตยกรรมอิสลาม เรียกกันว่า “สุเหร่าต้นโพธิ์” และยังไม่มีชื่อเรียกมัสยิดอย่างเป็นทางการ

            ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสทางชลมารคเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงประทับในอาคารมัสยิด ท่านอิหม่ามโต๊ะกีแย้ม ตะเคียนคามขอพระราชทานชื่อมัสยิด พระองค์ทรงทอดพระเนตรรูปทรงหลังคาจั่วมีช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ จึงพระราชทานให้ชื่อว่า “มัสยิดกุฎีช่อฟ้า” พร้อมพระราชทาน “ตะเกียงช่อ”


            มัสยิดเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน ให้กับเด็ก ๆ รุ่นเล็กสอนให้ท่องจำก่อนยังไม่ต้องรู้ความหมาย โตหน่อยค่อยให้เรียนรู้ความหมาย สอนเฉพาะวันเสาร์ ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ไปโรงเรียนตามปกติ

            ครูฮาซันเล่าให้ฟังต่อว่า ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ละแวกคลองตะเคียนสืบเชื้อสายมาจากคนมลายู จึงเป็นเหตุให้เรียกคนมุสลิมที่นี่ว่าแขกตานี อาคารมัสยิดกุฎีช่อฟ้ามีการบูรณะเปลี่ยนแปลงอาคารไม้หลังเดิม วางรากฐานสร้างอาคารใหม่เปิดเป็นศูนย์อบรมจริยธรรม บรรยายศาสนธรรมให้กับชาวมุสลิม และเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน ฟัรดูอีน


๔.

                ห่างจากุฎีช่อฟ้าอีกอึดใจ วัดพุทไธศวรรย์

            ล่องเรือขึ้นเหนือจากหมู่บ้านโปรตุเกสตามคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลกันนัก จะพบวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวไว้ว่า บริเวณวัดคือ พระตำหนักเวียงเหล็กที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนยกเมืองย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสร้างพระราชวังที่บึงพระรามในปัจจุบัน ภายหลังครองราชย์สมบัติได้ ๓ ปี จึงสถาปนาพระอารามขึ้นเป็นอนุสรณ์ ถือเป็นวัดสร้างขึ้นในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา แต่สิ่งก่อสร้างภายในวัดยังเหลือให้เห็นค่อนข้างสมบูรณ์ เหตุเพราะวัดตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ทำให้ได้รับความเสียหายน้อยกว่าวัดที่อยู่ภายในเกาะเมือง ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำวัดและประกอบศาสนกิจอยู่เป็นปกติ


         อาคารสองชั้นทรงเรือสำเภา สร้างถัดจากพระอุโบสถไม่ปรากฏชื่อ แต่นักวิชาการในสมัยหลังเรียกว่า “ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรียงรายรอบทุกด้าน เป็นเรื่องไตรภูมิ ชาดก รวมถึงคนต่างชาติ แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
            การเป็นเมืองท่าของกรุงศรีอยุธยาทำให้มีผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน

๕.

            “พวกแกซื้อหมูให้ไม่ได้ พายายไปตลาดหน่อยก็แล้วกัน”

          ยายสาลี่ มากผาสุข อายุ ๗๒ ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมปากคลองตะเคียนก่อนไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา บอกเล่าให้ฟังถึงน้ำใจงามของเพื่อนบ้านมุสลิม

            ยายสาลี่เป็นคนพุทธบ้านเดียวในชุมชนมุสลิมแห่งนี้ เดิมทียายไม่ได้อาศัยอยู่ในละแวกนี้ เพิ่งย้ายมาตอนอายุ ๑๙ ปี ที่อยู่เดิมแล้งมากน้ำท่าไม่พอใช้ จึงตัดสินใจย้ายครัวมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนบ้านดูแลและช่วยเหลือกันดี เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในความแตกต่างของศาสนา

            ลูกหลานมุสลิมแถวนี้ยายก็เลี้ยงมาแต่น้อย อยู่มาอย่างนี้นานแล้ว


สายใยสัมพันธ์

            “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา”

            เป็นชื่อพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งขึ้นเมื่อตอนสร้างเมือง เกาะเมืองอยุธยาตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมกับการเป็นเมืองท่า ส่งผลให้ผู้คนหลายเชื้อชาติ ศาสนามาอยู่รวมกัน เมื่อมีต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองอยุธยา

            กษัตริย์ไทยแต่โบราณมามิได้นิ่งเฉยไม่ไยดีกับความเป็นอยู่ ทรงพระราชทานที่ดินรวมทั้งอนุญาตให้สร้างหมู่บ้านโปรตุเกส สร้างชุมชนมุสลิม วัดนักบุญยอแซฟ แม้กระทั่งชื่อมัสยิดยังทรงพระราชทานให้ แม้เปลี่ยนรูปการปกครองไปแล้วแต่ยังมีหน่วยงานราชการ เช่น กรมศิลปากรทำหน้าที่ดูแลโบราณสถานต่าง ๆ ในอยุธยาโดยไม่เลือกศาสนาแต่อย่างใด
 
            ไม่ว่าบรรพบุรุษแต่เดิมของลุงเสนอ ครูอาซัน พี่รฐา ยายสาลี่ จะเป็นใครมาจากไหน หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ไม่ได้ส่งผลให้การอยู่ร่วมกันแปลกแยกแตกต่าง หากแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

            แม้วันนี้หมู่บ้านโปรตุเกสอาจเงียบเหงา ไม่หลงเหลือความเป็นย่าน Downtown แล้ว แต่สีสันวิถีชีวิตของผู้คนไม่เคยจางหายไป ผู้คนหลายเชื้อชาติหลายศาสนายังคงอยู่ร่วมกันด้วยสายใยสัมพันธ์แห่งความศรัทธาในเมืองท่าเมืองค้าขายที่มั่งคั่งคึกคักมาก จนชาวต่างชาติให้สมญานามว่า “เกาะทองทะเลใต้” วันเวลาแปรเปลี่ยนไป แต่สายใยของคนสามศาสนา ยังถักทอสายใยเหนียวแน่นไม่มีวันเปลี่ยนแปร


เอกสารอ้างอิง
ไกรฤกษ์ นานา.๕๐๐ปีสายสัมพันธ์สองแผ่นดินไทย-โปรตุเกส.กรุงเทพฯ : มติชน.,๒๕๕๓
ชมรมมุสลิมมัสยิดกุฎีช่อฟ้า.หนังสืออนุสรณ์งาน “๔๐ ปี ชมช.”.
วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา.บ้านแรก วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา ปฐมบทแห่งคาทอลิกไทย,เมษายน ๒๕๕๙.
http://siamportuguesestudy.blogsport.com/2010/06/blog-post_12.html
ขอขอบคุณ

ลุงเสนอ ไกลทองสุข, พี่รฐา โรจนสิทธิ์, ครูฮาซัน ตะเคียนเก้า, ยายสาลี่ มากผาสุข

No comments:

Post a Comment