Monday, September 26, 2016

ลมหายใจของตะเพียนสาน ผ่านวันวานสู่วันพรุ่ง

 คุณป้าวันกับรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิกับร้านปลาตะเพียนสาน

วันวิสาข์ วิทยานนทการ...เรื่อง อัครินทร์ ทีปสิริคัมภีร์...ภาพ
            
      สายน้ำผูกพันผู้คนเข้าด้วยกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าใกล้ไกลเพียงใด  สายน้ำก็นำพาผู้คนมาพบเจอกันได้ อย่างเช่นกรุงศรีอยุธยา เมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ เป็นเบ้าหล่อหลอมชีวิตผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ก่อเกิดวิถีวัฒนธรรมมากมาย มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารดังคำกล่าวที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"
            
         ปลาตะเพียนเป็นหนึ่งในปลาที่มีชุกชุมในแม่น้ำลำคลอง จนถือเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ที่ไม่ใช่เป็นแค่อาหารเลี้ยงชีวิต หากมีความผูกพันกับสังคมไทยมาแต่ครั้งอดีต ปลาตะเพียนจะวางไข่ในฤดูฝน จนโตเต็มที่กินอร่อยในฤดูข้าวตกรวง จึงเป็นที่มาของคำโบราณว่า "ข้าวใหม่ ปลามัน" คนโบราณมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียนมากมาย ตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับเด็กอ่อน ไปจนถึงการทำมาหากิน
           
ปลาตะเพียนสานแบบประยุกต์ส่วนครีบและหางเป็นลักษณะแบบปลาทอง 


           ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาตะเพียนกับพระเจ้าท้ายสระ ว่าพระองค์ทรงโปรดเสวยปลาตะเพียนมากจนออกพระราชกำหนดห้ามมิให้ราษฎรบริโภคปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับเป็นเงินถึง ๕ ตำลึง
            
             วรรณคดีสมัยอยุธยายังมีบทเห่ชมปลาของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ฯ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กล่าวถึงปลาตะเพียนไว้ว่า

"เพียนทองงามดั่งทอง    ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย        ดั่งสายสวาทคลาศจากสม"
           
              จากความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียน ทำให้สัญลักษณ์ปลาตะเพียนในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมของไทยไปแล้ว โดยเฉพาะปลาตะเพียนสานใบลานที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน แม้จำนวนคนทำจะลดลงไปมาก แต่ลมหายใจของปลาตะเพียนสานยังคงอยู่

 ป้าวันกำลังลงสีปลาตะเพียนอยู่ภายในร้าน 

ป้าวัน...ผู้ต่อลมหายใจของปลาตะเพียนสาน
            
            แดดยามสายส่องกระทบพวงปลาตะเพียนสานหลากสีสัน หลายขนาดตั้งแต่พวงเล็กๆ เป็นกระโจมปลาไม่มีแม่ปลา ขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ทั้งปลาลูกหก ปลาลูกเก้า ปลาลูกสิบสอง แขวนอยู่เต็มหน้าร้าน "ปลาตะเพียนอยุธยา" ร้านของ "ป้าวัน" วันทนี มีพลกิจ หนึ่งในผู้ทำปลาตะเพียนสานในชุมชนหัวแหลม ท่าวาสุกรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
            
          "เอ้า ได้ ๆ เข้ามาซิ" ป้าวันบอก หลังจากรู้จุดประสงค์ของเราว่าจะมาขอความรู้เกี่ยวกับการทำปลาตะเพียนสาน
            
             ภายในร้านขนาดไม่ใหญ่นัก มีหน้าต่างเพียงบานเดียว แบ่งส่วนหน้าเป็นที่แขวนปลาตะเพียนสานอีกหลากหลายแบบทั้งที่ใส่ถุงพลาสติกแขวนไว้ที่ผนังเรียงเป็นแถว ทั้งปลาตะเพียนสานสวยงามด้วยสีสัน และลวดลายบนตัวปลาในกล่องกระดาษสีทองวางบนชั้น ฝากล่องใส ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ดี และยังที่แขวนบนเพดานอีก นอกจากปลาตะเพียนสานแล้ว ยังมีการประยุกต์เป็นปลาทองสานด้วย โดยลักษณะหางจะเป็นพวงคล้ายหางปลาทอง และปลาระย้าที่ใช้ลูกปัดสีทองร้อยแทนปักเป้า ใช้ใบไม้สีทองเล็ก ๆ แทนใบโพธิ์ ด้านหลังร้านเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ในการทำปลาตะเพียนสาน ตั้งแต่มัดใบลาน ใบลานตัดแต่งแล้ว ตัวปลาขนาดต่าง ๆ หางปลา สี และพู่กัน
            
 พวงปลาตะเพียนสาน ร้านปลาตะเพียนอยุธยา 

             
             "สานกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ฉันเป็นรุ่นที่ ๓ ทำมาตั้งแต่อายุ ๑๒ หาค่าขนมเก็บไว้เวลาพ่อแม่ไปขายของนาน ๆ " ป้าวันในวัยใกล้ ๗๐ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพสานปลาตะเพียน พ่อแม่ของป้าวันมีอาชีพค้าขาย ออกเรือไปขายของบางทีเป็นเดือน เรือที่ในสมัยก่อนเรียกกันว่า "เรือเครื่องเทศ" เป็นเรือบรรทุกสินค้าต่าง ๆ ไปขาย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเครื่องเทศ และแน่นอนว่าต้องมีเจ้าตะเพียนสานแขวนล้อลมไว้ที่ท้ายเรือเพื่อเรียกลูกค้าด้วย
            
                จนถึงวันนี้กว่า ๕๐ ปี ที่ป้าวันยึดอาชีพสานปลาตะเพียนจนส่งลูก ๓ คน เรียนจบ มีงานดี ๆ ทำกันทุกคน ลูกทุกคนทำปลาตะเพียนสานได้ และมาช่วยแม่ที่ร้านในวันหยุดเป็นประจำ รวมถึงช่วงที่ลูกค้าสั่งซื้อปลาจำนวนมากด้วย

  กระป๋องสีและพู่กันสำหรับลงสีและวาดลายของปลาตะเพียนสาน

ใบลานสำหรับใช้ทำปลาตะเพียนสาน จากอำเภอทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี 

 ป้าวันบรรจงวาดลายลงบนปลาตะเพียนตัวน้อยแล้วพักให้สีแห้ง
ลูกชายคนเล็กของป้าวันกำลังห่อพวงกุญแจปลาตะเพียนสานเพื่อนนำส่งลูกค้า
            "ลูกฉัน ฉันเลี้ยงไม่ปล่อยนะ กลับจากโรงเรียนนี่ต้องทำงานบ้านก่อนทำการบ้าน ลูกชายคนโตล้างจาน ลูกสาวซักผ้า ลูกชายคนเล็กกวาดบ้าน ถูบ้าน ว่างก็ให้สานปลา จ้างนั่นแหละ ให้รู้จักหาเงิน" ป้าวันเล่าพลางมือก็แต้มสีทำตาพวงกุญแจปลาตะเพียนที่ลูกค้านัดจะมารับบ่ายนี้ไปด้วย ในกระด้งสีมอ ๆ ที่ใส่พวงกุญแจปลามีร่องรอยสีกระเด็นเปรอะทั้งใบ ไม่เว้นแม้แต่บนพื้นกระเบื้อง และขอบบานหน้าต่างที่เต็มไปด้วยรอยหยดด่างดวงหลากสี สะท้อนถึงการเดินทางของปลาตะเพียนสาน และชีวิตคนทำปลาตะเพียนสานได้เป็นอย่างดี
             
                 การทำปลาตะเพียนสานอยู่คู่กับชุมชนมุสลิมท่าวาสุกรี บ้านหัวแหลมในจังหวัดอยุธยามานานกว่า ๑๐๐ ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมที่ล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยา และอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้คิดประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งแรงบันดาลใจอาจจะมาจากความรู้สึกผูกพันกับสายน้ำ และความคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาตะเพียนที่มีชุกชุมจนถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

            ปลาตะเพียนสานรุ่นแรก ๆ เรียกว่า “ปลาโบราณ” โดยจะทำเป็นตัวปลาขนาดเล็ก ๆ ๑ – ๓ ตัว เท่านั้น และมักทาด้วยสีเหลืองตามธรรมชาติจาก “รง” ผสมกับน้ำมันวานิช แล้วนำไปเสียบไม้สำหรับแขวน

            ปลาตะเพียนสานไม่ได้เป็นแค่ของเด็กเล่น หรือเครื่องแขวนเหนือเปลเด็กเพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียนทั้งในเรื่องความขยันหมั่นเพียร การเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจดั่งปลาตะเพียนในฤดูข้าวตกรวง บ้างยังถือเคล็ดว่าเพื่อให้ลูกหลานโตเร็ว ๆ ให้มีลูกหลานมากมายเหมือนปลาตะเพียน บ้างก็เชื่อว่าถ้าแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้านจะทำให้มั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปเครื่องรางปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนเงิน ทำเป็นคู่ เพื่อเสริมมงคลในทางค้าขาย

            “อ้าว ว่าไง มายังไงล่ะนั่น” ป้าวันทักทายลูกค้าตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าร้าน คุณลุงเดินเข้ามาใต้ชายคาร้านทั้งที่ยังสวมหมวกกันน็อคยิ้มรับคำทักทายพร้อมกับบอกว่าพาคุณยายมาเลือกซื้อปลาตะเพียนสานให้หลานน้อยเน้นว่าต้องเป็นสีแดงด้วย เมื่อเลือกได้ปลาพวงที่ถูกใจแล้วคุณยายค่อย ๆ คลี่ผ้าเช็ดหน้าเก่า ๆ หยิบเงินมาจ่ายค่าปลา แล้วสอดห่อเงินไว้ใต้เข็มขัดก่อนจะผูกไว้กับเข็มขัดที่เคียนเอวอีกชั้นหนึ่ง คุณยายเปรยว่า “ฉันใช้กระเป๋าสตางค์ไม่ได้ หายหมด ต้องแบบนี้แหละ”

 ปลาตะเพียนใบลานสิ่งมงคลที่แขวนภายในร้าน
คนอยุธยายังคงผูกพันกับปลาตะเพียนสาน นอกจากใช้แขวนเหนือเปลเด็กอ่อนแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องประดับบ้าน ให้เป็นของขวัญงานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานเปิดร้านใหม่ อย่างร้านขายเฟอร์นิเจอร์มือสองข้างร้านป้าวันยังมีปลาลูกสิบสองตัวโตจากร้านป้าวันแขวนเด่นอยู่หน้าร้าน ในร้านป้าวันเองก็แขวนปลาตะเพียนใบลานสีเหลืองมอ ๆ ที่ลงอักขระเลขยันต์ไว้เป็นสิริมงคล คู่หนึ่งแขวนอยู่ตรงกลางใต้ชายคาหน้าร้าน และตรงประตูร้านแขวนปลาอีกตัวคู่กับป้ายร่ำ รวย เงิน ทอง มั่งมี ดี ศรีสุข ป้าวันเล่าว่าพระท่านทำให้ บอกว่าหากินกับปลาก็ใช้ปลานี่แหละเป็นของมงคล

เมื่อถามถึงเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียน ป้าวันตอบด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ ใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ลูกฉันฉลาดเป็นกรดทุกคน เรียนดี ทำงานดี สานปลาได้” นอกจากความภูมิใจในตัวลูก ๆ ทุกคนแล้ว ป้าวันยังภูมิใจกับอาชีพสานปลาตะเพียนมาก “มันอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับใคร” และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของป้าวันคือ การทำปลาตะเพียนสานเพื่อถวายแด่พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งในปีที่ประสูติคือปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมใจกันแขวนปลาตะเพียนสานประดับไว้หน้าบ้าน เป็นการถวายพระพรให้มีพระพลามัยแข็งแรง และเป็นการถวายความจงรักภักดี

ป้าวันยังมีส่วนช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างแดนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหลายครั้ง โดยเดินทางไปสาธิตการสานปลาตะเพียนในหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ดูไบ เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

ลูกค้าของป้าวันมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีทั้งคนทั่วไป องค์กร ห้างร้าน หรือแม้แต่พระภิกษุยังมาซื้อปลาตะเพียนสานไปเป็นของฝากญาติที่เมืองนอก และทำเป็นของมงคล

 พวงกุญแจปลาตะเพียนสานถือเป็นของฝากชิ้นเล็กๆที่ลูกค้านิยมสั่ง
         จากคำพูดของป้าวัน "มือทำรวย หวยทำจน" และ "อย่าทำอะไรนาน ก้าวให้ทันโลก" ที่ดูเหมือนจะเป็นคติพจน์ประจำใจมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ในช่วงปลายของชีวิตป้าวันยังคงสานปลาตะเพียนตามแบบดั้งเดิม และตามคำสั่งของลูกค้า ทั้งรูปแบบ ขนาด ลวดลาย และสีสันที่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะเป็นพวงกุญแจ เข็มกลัด ต่างหู ที่คั่นหนังสือ หรือนามบัตร แถมป้าวันยังประยุกต์ลวดลายตามที่ลูกค้าสั่ง อย่างช่วงที่มีม็อบการเมือง จะนิยมหางปลาตะเพียนที่เป็นลายธงชาติ ซึ่งปกติลวดลายบนตัวปลาตะเพียนจะเป็นลาย "ตามใจฉัน" อย่างที่ป้าวันบอก ไม่มีชื่อลายที่แน่นอน


เมื่อถามถึงอนาคตของอาชีพสานปลาตะเพียน ป้าวันตอบอย่างไม่ลังเลว่า "อยู่ซิ ลูกฉันก็ทำต่อ เดี๋ยวอายุ ๕๕ บริษัทก็ไล่ออกแล้ว (หัวเราะ) ก็มาทำปลานี่แหละ" และไม่ใช่แค่ลูก ๆ ที่ป้าวันหวังว่าจะเป็นผู้สืบต่ออาชีพที่ป้ารัก หลานสาวคนเดียวของป้าวันอายุเพิ่งจะขวบครึ่งก็ส่อแววจะเจริญรอยตามคุณยายอย่างที่ยายทำอะไรทำด้วย "ฉันสานปลาก็สานด้วย ฉันจับพู่กันก็จับด้วย" ป้าวันเอ่ยถึงหลานสาวสุดที่รักด้วยน้ำเสียงรักใคร่ และดวงตาเป็นประกาย ส่วนการเปลี่ยนแปลงของปลาตะเพียนสานในรุ่นต่อไปนั้น ป้าวันไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก "

ก็แล้วแต่เขา" ป้าวันตอบสั้น ๆ

 ปลาตะเพียนสานร้อยเรียงแขวนไว้ ด้วยยังคงมีลมหายใจอยู่ของผู้สร้างสรรค์เช่นป้าวัน

วันพรุ่งของตะเพียนสาน

            ปลาตะเพียนสานใบลานเดินทางผ่านกาลเวลามานานเนิ่น แม้ลมหายใจจะแผ่วเบาลงบ้างในปัจจุบันเพราะจำนวนคนทำน้อยลงมาก โดยเฉพาะคนที่ทำปลาตะเพียนสานได้ครบทุกขั้นตอนอย่างป้าวัน แต่ด้วยคำยืนยันอันหนักแน่นของป้าวันที่มีผู้สืบทอดรุ่นต่อไปแล้ว ก็ทำให้วางใจได้ว่าปลาตะเพียนสานใบลานจะยังคงอยู่คู่กับคนอยุธยาต่อไปด้วยลมหายใจที่แม้จะแผ่วเบา...แต่มั่นคง


ป้าวันนำปลาตะเพียนออกมาแขวนโชว์หน้าร้านด้วยรอยยิ้ม  

          รู้จักกับปลาตะเพียนสาน
          
            ปลาตะเพียนสานเป็นเครื่องแขวนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำคัญ ๖ ชิ้น คือ

            ๑. กระโจมปลา หรือกระจังบน เป็นส่วนประกอบที่อยู่ตอนบนสุด มีเพียง ๑ ชิ้น ใน ๑ พวง

          ๒. แม่ปลา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด ปลาตะเพียนสาน ๑ พวง จะมีแม่ปลาใหญ่เพียง ๑ ตัว เท่านั้น และเป็นจุดเด่นสำคัญที่สุด

           ๓. กระทงเกลือ รูปร่างคล้ายกระทงใส่เกลือของชาวมุสลิม เป็นรูปดาวห้าแฉก ใช้ตกแต่งพวงปลา ห้อยต่อจากแม่ปลาสำหรับครอบลูกปลาให้ดูสวยงามขึ้น จะมีในพวงปลาตั้งแต่ลูกเก้าขึ้นไปเท่านั้น

            ๔. ปักเป้า หรือเม็ด รูปร่างคล้ายข้าวหลามตัด หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนทรง ๓ มิติ ขนาดเล็ก ใช้ร้อยเป็นสายห้อยตอนบน และสายระย้าตอนล่าง หรือเชื่อมโยงรอยต่อของชิ้นส่วนต่าง ๆ ในพวงปลาตะเพียนและป้องกันไม่ให้เห็นเส้นด้าย

            ๕. ใบโพธิ์ ใช้ใบลานตัดเป็นรูปคล้ายใบโพธิ์ มีน้ำหนักเบา พลิ้วลมได้ดี ใช้ต่อปลายของอุบะห้อยจากกระโจม และกระทงเกลือ ตลอดจนปลายอุบะที่ห้อยต่อจากลูกปลาทั้งหมด

            ๖. ลูกปลา รูปร่างเหมือนแม่ปลา แต่มีขนาดเล็กว่าประมาณ ๓ - ๔ เท่า ใช้ร้อยกับสายระย้าทั้งสามสาย ถ้าเป็นระย้าใหญ่จะร้อยไว้ใต้กระทงเกลือ มีปักเป้าร้อยคั่นตอนบน ถ้าเป็นระย้าเล็ก จะร้อยต่อจากปักเป้าที่ห้อยจากตัวแม่ปลาลงมา


No comments:

Post a Comment